108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกัน (PrEP)

2017-10-10 14:00:06

108 ปัญหาสุขภาพกับหมอรามาฯ : ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกัน (PrEP)

Advertisement

ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเอดส์สะสมประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน โดยในจำนวนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว 7 แสน 7 หมื่นคน ถือเป็นสถิติที่ยังคงน่าเป็นห่วง ทำให้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการมีคู่นอนคนเดียว การใช้ถุงยางอนามัย การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมถึงการใช้ยาต้านเอชไอวี ที่มีผู้สนใจจำนวนไม่น้อย แต่พบว่าในหลายคนยังขาดความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาต้านเอชไอวี แต่มาใช้เป็นยาที่ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ


การใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีหรือยาเพร็บ (PrEP) เป็นการป้องกันวิธีหนึ่ง ที่ใช้ร่วมกับการป้องกันการติดเชื้อวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย และการมีคู่นอนคนเดียว เป็นต้น โดยชนิดของยาก็จะเป็นชนิดเดียวกับยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่จะใช้ยาเพียง 2 ชนิด เม็ดเดียว ในขณะที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องกินยา 3 ชนิดร่วมกัน เมื่อกินยาเข้าไปแล้วตัวยาจะอยู่ในกระแสเลือด และช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย

เพร็พ เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเช่น ผู้มีคู่ผลเลือดบวกและคู่กำลังรอเริ่มยาต้านเอชไอวีอยู่หรือคู่ได้ยาต้านเอชไอวีแล้วแต่ยังตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดอยู่ ผู้ที่มีคู่ผลเลือดบวกที่ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่มักมาขอรับบริการการป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อหรือเพ็พ (PEP) เป็นประจำโดยไม่สามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงได้หลังได้รับคำปรึกษาแนะนำ ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ชายหรือหญิงที่ทำงานบริการทางเพศ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดที่กำลังฉีดอยู่หรือฉีดครั้งสุดท้ายภายใน 3 เดือน ผู้ต้องขังที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด และผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา


ก่อนจะเริ่มเพร็พ จะต้องมีการตรวจเลือดก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ก่อน และมีการตรวจอื่นๆ ได้แก่ การทำงานของไต การตั้งครรภ์ (ในเพศหญิง) ตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หลังจากที่เริ่มต้นกินยาแล้วจะต้องให้มีระดับยาคงที่ก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7 วัน จนกระทั่งระดับยาสูงเพียงพอที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ที่สำคัญคือต้องกินยาต่อเนื่องทุกวัน จากข้อมูลการศึกษาในขณะนี้ และการกินยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันยังต้องอยู่ในความดูแลและควบคุมของแพทย์ เนื่องจากยามีผลข้างเคียงคือ เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง และมึนหัว ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะหายไปเองในเวลาไม่นาน ในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อกระดูกและไตได้ ซึ่งต้องติดตามผลการศึกษาในระยะยาวต่อไป โดยจะต้องมีการตรวจติดตามว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ทุก ๆ 3 เดือน ตรวจการทำงานของไตทุกๆ 6 เดือน และคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะซิฟิลิส

ความกังวลของการใช้ยาต้านเอชไอวีสำหรับการป้องกันคือ อาจทำให้การป้องกันวิธีอื่นลดลง เช่น การใช้ถุงยางลดลง หรือยังใช้เข็มฉีดยาร่วมกันกับผู้อื่น โดยในความเป็นจริงแล้ว การใช้ถุงยางอนามัยยังคงเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะกินยาต้านเอชไอวีแล้วก็ตาม เพราะยาต้านเอชไอวีไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งร้อยละ 100 และยังขาดคุณสมบัติหลายอย่างที่ไม่สามารถป้องกันได้เหมือนถุงยางอนามัย ได้แก่ ไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ เช่น โรคหนองใน โรคซิฟิลิส เป็นต้น นอกจากนี้การกินเพร็พนั้น สามารถหยุดได้ ถ้ามีผลข้างเคียงหรือไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว


ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์



คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล