"ศาลฎีกา"พิพากษาจำคุก 5 ปี"ทักษิณ"เอื้อชินคอร์ปฯ

2020-07-30 18:40:24

"ศาลฎีกา"พิพากษาจำคุก 5 ปี"ทักษิณ"เอื้อชินคอร์ปฯ

Advertisement

"ศาลฎีกา" พิพากษาจำคุก 5 ปี "ทักษิณ" ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้ "กลุ่มชินคอร์ปฯ"

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีดำหมายเลขที่ อม. 9/2551 คดีแดงที่ อม. 5/2551 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งตกเป็นจำเลยในเรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2551 ว่า ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.2544 ถึงวันที่ 19 ก.ย.2549 ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ใน 2 วาระติดต่อกัน จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 ด้วยการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน และกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพราะเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นในกิจการโทรคมนาคม

โดยระหว่างพิจารณาคดี จำเลยหลบหนี ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ศาลจึงยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยในวันที่ 30 ก.ค.2563 โดยวินิจฉัยในสาระสำคัญ ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100(2) ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ขณะจำเลยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน 2 วาระ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยยังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยให้บุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยให้บุคคลอื่นเป็นผู้ถือหุ้นแทนจำเลยต่อเนื่องมาโดยตลอด ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเดียวกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100(2) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว มิใช่สองกรรมตามที่โจทก์ฟ้อง




ศาลจึงพิพากษา ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยองค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ให้จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้นให้จำคุก 3 ปี รวมเป็นจำคุก 5 ปี ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ. 10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง