"รณณรงค์-นศ."บุก ป.ป.ช.บี้สอบ"อัยการ"ปมสั่งไม่ฟ้องคดี"บอส"

2020-07-30 13:35:41

"รณณรงค์-นศ."บุก ป.ป.ช.บี้สอบ"อัยการ"ปมสั่งไม่ฟ้องคดี"บอส"

Advertisement

"รณณรงค์-นศ." บุก ป.ป.ช.บี้สอบ "อัยการ" ปมสั่งไม่ฟ้อง "บอส วิทยา" ด้าน นศ. หวั่นเป็นบรรทัดฐานช่วยคนผิด

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม นำนักศึกษาคณะนิติศาสตร์จากทั่วประเทศ เข้ายื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีอัยการที่เกี่ยวข้องออกคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่ และใช้ดุลยพินิจโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ เพื่อให้สังคมไม่คลางแคลงใจ เพราะคำสั่งที่ออกมาเป็นสิ่งที่สังคมรับไม่ได้ หากผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการออกมาว่ามีมูล ขอให้ดำเนินการกับอัยการทุกคนที่เกี่ยวข้อง วันนี้ต้องมายื่นเรื่องแม้ว่าเมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ไม่ได้ชี้ชัดว่าจะเอาผิดบุคคลไดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรารับไม่ได้กับคำสั่งที่เกิดขึ้น

นายรณรงค์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่องความเร็วของรถที่ตอนแรกวัดได้ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านไป 2 ปีวัดได้ 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 79 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตนว่าเรื่องนี้แปลกพิศดาลแล้ว แต่เมื่อไปเจอพยานใหม่ที่ยืนยันว่านายวรยุทธ ขับรถไม่ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วอัยการก็เชื่อ ไม่นับรวมกรณีที่มีการเปลี่ยนพนักงานสอบสวนหลายชุด ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าคดีจะจบแบบนี้ ถ้าจบแบบขาดอายุความแล้วนายวรยุทธ อยู่ต่างประเทศ หนีได้ก็หนีไป แต่กรณีนี้ตนรับไม่ได้ หลังจากมีข่าวคดีนี้ปรากฏว่ามีประชาชนที่ถูกอัยการสั่งฟ้องจากกรณีประมาทร่วมรู้สึกว่าไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนนายวรยุทธ หลังจากนี้จะนำบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ไปทวงถามต่ออัยการสูงสุด ว่าเพราะเหตุใดจึงถูกสั่งฟ้องทั้งๆ ที่ประมาทร่วมเช่นเดียวกับกรณีของนายวรยุทธ ซึ่งมีกรณีอย่างนี้เป็น 10,000 กรณี ตนไม่ได้ท้าทาย แต่มันเป็นความรู้สึกของประชาชนที่ถูกฟ้องคล้ายๆ กัน




ส่วนกรณีที่ครอบครัวอยู่วิทยา ออกมาขอความเป็นธรรมนั้น ทนายรณรงค์ กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ์ของทางครอบครัว ตนก็เห็นใจที่ไม่ได้กระทำแต่ถูกโจมตีไปด้วย บางทีต้องแยกแยะว่าเป็นเรื่องของบุคคล สังคมต้องแยกแยะระหว่างคนที่ทำกับคนที่ไม่ได้ทำว่าเป็นคนละคนกัน กรณีที่เกิดขึ้นไม่เห็นมีใครไปซักค้านอัยการ มีแต่คนช่วยคนที่ยังไม่ตาย มันไม่แฟร์ และคดีในลักษณะเดียวกันที่เกิดกับลูกความของตนเป็น 100 เป็น 1,000 สำนวน อัยการก็สั่งฟ้องหมด ก็ไปสู้กันในศาล ไม่มีหรอกที่อัยการสั่งไม่ฟ้องแบบนี้ มีคนตายยังไงก็ต้องสั่งฟ้องไปก่อนแล้วให้ไปพิสูจน์กันในศาล หากศาลตัดสินยกฟ้อง หรือรอลงอาญา สังคมก็รับได้ เหมือนคดีเสี่ยเบนซ์ สังคมรับสภาพได้ แต่ขอให้จบที่ศาล อย่าตัดตอนที่ชั้นอัยการ ตนว่ามันไม่แฟร์

ด้านตัวแทนนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่มาร่วมยื่นคำร้อง ระบุ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ยุติธรรมกับผู้ที่เสียชีวิต แล้วยังไปกล่าวหาว่าเขามีความผิด จึงอาจกลายเป็นบรรทัดฐาน อีกทั้งยังติดใจเรื่องความเร็วที่เปลี่ยนแปลงซึ่งมาแก้ต่างในภายหลังว่าน่าจะเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็นว่าผู้เสียหายเป็นคนผิด อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการที่นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ จะทำให้เรื่องดังกล่าวโปร่งใส แต่หากผลออกมาเป็นเช่นเดิม นักศึกษาก็คงต้องออกมาแสดงพลังเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย