ตร.เปิดแถลงข่าวยืนยันคดี"บอส อยู่วิทยา"จบแล้ว รื้อฟื้นไม่ได้

2020-07-29 16:50:13

ตร.เปิดแถลงข่าวยืนยันคดี"บอส อยู่วิทยา"จบแล้ว รื้อฟื้นไม่ได้

Advertisement

ตร.เปิดแถลงข่าวยันคดี "บอส อยู่วิทยา" จบแล้ว ไม่สามารถรื้อฟื้นได้ อ้างเหตุเพราะผ่านชั้นสืบสวนไปแล้ว

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สมชาย พัชรอินโต ผบช.กมค. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ กรณีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยยอมรับว่า ขณะนี้ถือว่าคดีสิ้นสุดแล้วไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นได้อีก พร้อมยืนยันการพิจารณาความเห็นที่อัยการส่งมาเป็นการพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ซึ่งไม่มีอำนาจตรวจสอบความเห็นของอัยการ หรือขอให้อัยการอธิบายเหตุผลของการสั่งคดี โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงว่าการใช้ดุพินิจของ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจที่จะรื้อฟื้นหรือสืบสวนเพิ่มเติม เพราะคดีผ่านชั้นสืบสวนของตำรวจมาแล้ว

ด้าน พล.ต.ท.จารุวัฒน์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับพยานใหม่ 2 ปาก เนื่องจากอัยการ เป็นฝ่ายมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบปากคำเพิ่มเติมหลังผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พนักงานสอบสวนจึงทำตามขั้นตอนที่อัยการกำหนดเท่านั้น โดยไม่สามารถก้าวล่วงกับการให้น้ำหนักกับพยาน 2 ปากนี้ พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมาคดีร้อยละ 97 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีควมเห็นแย้งกับอัยการ มีเพียงร้อยละ 3 ที่เห็นแย้ง และโดยทั่วไป ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบคดีตามเขตอำนาจของพนักงานอัยการ จึงสามารถมีความเห็นแย้งหรือไม่แย้งคดีได้ จึงถือว่าความเห็นเป็นอันสิ้นสุด




พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ยังยืนยัน ว่า คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่การฟอกขาวให้ พล.ต.ท.เพิ่มพูน กรณีไม่เห็นแย้งคำสั่งของอัยการ แต่จะทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎต่อสาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าคณะกรรมการทำอะไรบ้าง โดยจะเร่งประชุมและจะแถลงข่าวให้ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้จะพิจารณาใน 3 แนวทาง คือ 1.การสอบสวนและความเห็นชั้นพนักงานสอบสวน 2.การสอบสวนเพิ่มเติมตามความเห็นของอัยการ 3.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจไม่แย้งสำนวนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมระบุว่า ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ จะไม่มีผลต่อคดีความ เพราะคดีสิ้นสุดแล้วหลังตำรวจมีความเห็นฟ้อง และจะไม่เกี่ยวข้องกับผลการตรวจสอบของอัยการสูงสุด แต่หากพบว่าคณะกรรมการมีการใช้ดุพินิจที่ไม่ชอบ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาความผิดทางวินัยและอาญาต่อไป อย่างไรก็ตามแม้กระบวนการของตำรวจจะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ครอบครัวผู้เสียหายยังสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลได้เอง ตามกระบวนการยุติธรรม