"พิธา"นำทีมก้าวไกลแถลงประกาศล่าชื่อสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 5 จัดทำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม รธน. เน้น 3 ประเด็น “ตั้ง ส.ส.ร. -ปิดสวิตช์ ส.ว. – ตัด ม.279 รับรองประกาศ คำสั่ง คสช.” เล็งแก้ พ.ร.บ.ประชามติด้วย
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ แถลงว่า พรรคก้าวไกลมีมติจากที่ประชุม ส.ส.ของพรรค โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการผ่าทางตันประเทศ คือ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 269 , 270 ,271 และมาตรา 272 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. อำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นต้น รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 เกี่ยวกับรับรองประกาศ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ปัญหาประเทศ และเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ
ด้านนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเตรียมจัดทำร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อหารือร่วมกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ในการรวบรวมรายชื่อส.ส.ให้ได้ 1 ใน 5 หรือ 100 คนขึ้นไป เพื่อยื่นต่อที่ประชุมรัฐสภาให้พิจารณา โดยมีเนื้อหา 3 เรื่อง คือ 1.ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยมีคุณสมบัติคือมีอายุ 18 ขึ้นไป และไม่กำหนดวุฒิการศึกษา 2.ปิดสวิตช์ ส.ว. โดยให้คัดสรรส.ว.ชุดใหม่ 200 คน ที่ยึดเนื้อหาหลักในมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และ3.ยกเลิกการรับรองประกาศ และคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ส.ส. และส.ว. มุ่งมั่นแก้วิกฤตครั้งนี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าที่ประชุมรัฐสภาสามารถพิจารณาผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันในสมัยประชุมนี้ได้
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เราจำเป็นต้องมีสสร.ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงนอกจากนี้ จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2560 เนื่องจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีปัญหาอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้เกิดการรณรงค์อย่างปลอดภัย และเกิดเสรีภาพอย่างแท้จริงจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วย โดยระหว่างนี้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จะพยายามปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การออกเสียงประชามติที่มีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง