"ดร.กนก"แนะรัฐบาลใช้ 4 ข้อปลดล็อกเงินกู้ช่วย "SME"

2020-07-29 11:40:45

"ดร.กนก"แนะรัฐบาลใช้ 4 ข้อปลดล็อกเงินกู้ช่วย "SME"

Advertisement

"ดร.กนก" แนะรัฐบาลใช้ 4 ข้อปลดล็อกเงินกู้ช่วย "SME" ช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้าน เปิดเผยถึงปัญหากรณีการเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ของกลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ชุดดังกล่าวได้เชิญผู้แทนธนาคารพาณิชย์, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, ธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงการคลัง และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เข้ามาชี้แจงเรื่องนี้ โดยสามารถสรุปปัญหาได้เป็น 4 ประเด็น คือ

1.ธนาคารพาณิชย์ถึงแม้จะได้เงินกู้ดอกเบี้ยเพียง 0.5% จากธนาคารแห่งประเทศไทย และสามารถปล่อยเงินกู้ได้ด้วยดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่พบว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ SME น้อยมาก ส่วนที่ปล่อยกู้ไปก็จะเป็นลูกค้าเดิมของธนาคารเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะธนาคารเกรงว่าถ้าปล่อยให้ SME ที่มีความเสี่ยงสูงทำการกู้แล้ว SME จะไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ สุดท้ายธนาคารจะต้องเผชิญกับปัญหาสินเชื่อที่ชำระคืนไม่ได้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเกิดปัญหา NPL (Non-Performing Loan) ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาของธนาคารโดยตรง




2. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ซึ่งทำหน้าที่ช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้ผู้ประกอบการ SME กับธนาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ธนาคารกรณีผู้ประกอบการ SME อาจมีปัญหาในการชำระเงินกู้ ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์สบายใจที่จะปล่อยกู้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงพบว่าวงเงินที่ทาง บสย.ได้จากมติคณะรัฐมนตรี เพื่อการค้ำประกันใกล้หมดแล้ว จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของ SME และที่สำคัญยังพบอีกว่า บสย.ทำงานในเชิงตั้งรับมากเกินไป คือ การรอรับผู้กู้ SME ที่ธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธ เพราะขาดหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเท่านั้น แทนที่ บสย.จะออกไปหาผู้ประกอบการ SME ที่มีปัญหาการเงิน เพื่อทำการแนะนำและสนับสนุนช่องทางให้ SME เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างรวดเร็ว

3.ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ที่เป็นธนาคารของรัฐ ยังคงทำงานในเชิงตั้งรับเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเหตุผลทางกฎระเบียบของรัฐ และประวัติศาสตร์ของทางธนาคารที่พนักงานของธนาคารเคยต้องถูกดำเนินคดีจากการให้สินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น ธนาคารของรัฐจึงไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ที่ยึดถือความปลอดภัยของตนมาก่อน ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เป็นเรื่องรองลงมา 4.กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ได้คาดว่าผลการปฏิบัติมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ประกาศตาม พรก.เงินกู้ นั้น จะออกผลเช่นที่ปรากฏให้เห็นนี้ ว่ากันง่ายๆ คือ มาตรการที่ตั้งใจทำไม่ได้ในทางปฏิบัติจริง



อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีท่านนี้ เปิดเผยอีกว่า ได้รับมอบหมายจาก ประธาน กมธ.ชุดดังกล่าวให้หาทางคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่อยู่ในที่ประชุม กมธ. ก็ได้ข้อสรุปเพื่อนำไปปฏิบัติ ดังนี้ 1.ให้กระทรวงการคลังพยายามเร่งขอมติจากคณะรัฐมนตรี ในการเพิ่มวงเงินค้ำประกันเงินกู้ให้ บสย. เพื่อที่ทาง บสย. จะสามารถมีเครื่องมือในการออกไปช่วยผู้กู้ SME ได้อีกอย่างน้อย 1 ล้านราย 2.ให้ บสย. เปลี่ยนวิธีการเข้าหาผู้ประกอบการ SME เป็นการเดินหน้าในเชิงรุก ด้วยการเข้าไปหา SME ที่มีปัญหา และนำพาพวกเขาให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และสามารถนำเงินกู้ออกไปดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างรวดเร็ว

3.ให้ธนาคารออมสินที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ และมีฐานลูกค้า SME อยู่ในข้อมูล ร่วมมือกับทาง บสย. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ Micro SME โดยเร็ว และทั่วถึงมากที่สุด และควบคู่ไปกับการให้สินเชื่อนั้น ก็ขอให้ทางธนาคารออมสิน และ บสย. ช่วยให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจกับ SME เพื่อปรับธุรกิจให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขันยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาดในช่วงสถานการณ์โควิด 19 อย่างเหมาะสม 4.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปหามาตรการหรือการปรับกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ลง และทำให้การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ SME และ Micro SME เกิดขึ้นจริง และทันต่อสถานการณ์ธุรกิจที่กำลังเลวร้ายมากขึ้นไปทุกขณะ

อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในการประชุม กมธ.วิสามัญครั้งต่อไป ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ความเคลื่อนไหวทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว หน่วยงานที่รับผิดชอบรับปากว่าจะกลับมารายงานให้ทราบอีกครั้งว่าในทางปฏิบัตินั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งตนพยายามเน้นย้ำไปว่าให้รักษางานและการจ้างงานเอาไว้ให้ได้ เพราะนั่นคือทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้นการอยู่รอดของ SME และ Micro SME คือ พันธกิจสำคัญของรัฐบาล และเป้าหมายดังกล่าวจะสำเร็จไม่ได้เลยหากหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการร่วมกันในเป้าหมายอย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่ผู้บริหารในรัฐบาลต้องตกผลึก เพื่อสร้างการยอมรับและความเข้าใจในผลลัพธ์ที่ใช่ร่วมกันอย่างแท้จริง