"อัยการ"ลั่นไม่เกิน 7 วันสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง"บอส อยู่วิทยา"

2020-07-28 12:10:24

"อัยการ"ลั่นไม่เกิน 7 วันสรุปสำนวนสั่งไม่ฟ้อง"บอส อยู่วิทยา"

Advertisement

"6 อัยการ" ประชุมนัดแรกลั่นขอเวลา 7 วันพิจารณาตรวจสำนวนคดีสั่งไม่ฟ้อง "บอส-อยู่วิทยา" ย้ำอาญาแผ่นดินไม่สามารถยอมความได้

เมื่อวันนี้ 28 ก.ค. คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ร่วมประชุมนัดแรกที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. หลังจากที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานอัยการ 6 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3

โดย นายประยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้อัยการได้เรียกสำนวนจากสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มาเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งกรอบของสำนักงานอัยการที่ จะดำเนินการ คือ พิจารณาว่าการสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ รวมถึงเหตุผลในการสั่งฟ้องว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดประธานคณะกรรมการที่กำกับโดยนายสมศักดิ์ ติยะวานิช คาดว่า กรอบที่จะพิจารณาเร่งรัดให้แล้วเสร็จได้ภายใน 7 วัน หากมีผลความคืบหน้าในการพิจารณาของคณะกรรมการที่ประชุมวันนี้ ก็จะเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้นมาในครั้งนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ ส่วนจะได้ข้อสรุปออกมาในทิศทางใดยังไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้




นายประยุทธ ยังกล่าวถึงประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัยเรื่องความสมเหตุสมผลของพยาน 2 ปากว่าคณะกรรมการจะนำเข้าพิจารณาด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะคณะกรรมการพึ่งจะเริ่มต้นพิจารณา แต่กรอบของการพิจารณาจะยึดตามสำนวนคดี เมื่อถามว่าตามพยานหลักกฎหมาย หากมีความเห็นทั้งอัยการ และ ผบ.ตร.ตรงกันว่าไม่ฟ้องคดีนี้ คณะกรรมการจะสามารถรื้อสำนวนคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ได้หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ แต่ขอให้รอดูคณะกรรมการพิจารณาว่าจะได้ข้อสรุปออกมาทิศทางใด

ส่วนประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าสั่งไม่ฟ้องก็จะต้องดูกรอบและข้อกฎหมาย เพราะหากยึดตามหลักกฎหมาย พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นพ้องต้องกันในคำสั่งนั้นก็ให้ถือว่าจบในการสั่งครั้งนั้นตามกระบวนการของกฎหมาย แต่นัยยะของกฎหมาย การสั่งไม่ฟ้องของอัยการที่ ผบ.ตร.เห็นชอบ จะต่างกับการพิพากษาของศาล ถ้าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วจะไม่สามารถรื้อคดีได้ เพราะจะถือเป็นการฟ้องซ้ำ แต่ในส่วนของอัยการ หากเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ก็สามารถเปลี่ยนความเห็นคำสั่งใด หรือไม่ตัดสิทธิ์ผู้เสียหายที่จะฟ้อง ตามป.วิอาญา ซึ่้งสามารถไปฟ้องเองได้ตามมาตรา 28



เมื่อถามถึงกรณีที่สังคมตั้งข้อสงสัยเนื่องจากมีความเคลือบแคลงเรื่องการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ไม่สั่งฟ้องนายวรวิทย์ จนทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงานเสียหาย แล้วจะกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับมาได้อย่างไร นายประยุทธ กล่าวย้ำว่า ขณะนี้คณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งขึ้นมากำลังเร่งหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกอย่างเพื่อตอบคำถามสังคม ซึ่งถือเป็นภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงรายการประชุมวันนี้จะพิจารณา เหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องว่าคืออะไร และสั่งชอบด้วยข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายหรือไม่ ส่วนกรณีที่ญาติผู้เสียชีวิตเซ็นยินยอมรับเงินเยียวยา และจะไม่ดำเนินการใดๆ หลังจากที่เกิดเหตุ ไปแล้ว จะส่งผลต่อการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ตามกฎหมายแม้จะรับเงินไปแล้วแต่ ความผิดถือเป็นอาญาแผ่นดินเป็นคดีอาญาไม่สามารถยอมความได้