"ทิพานัน" ระบุ "ตร.-อัยการ" ต้องแจงให้ไวคดี "บอส"

2020-07-27 08:44:44

"ทิพานัน" ระบุ "ตร.-อัยการ" ต้องแจงให้ไวคดี "บอส"

Advertisement

"ทิพานัน" ระบุคดี "บอส" ยันคดีนี้ยังไม่ถึงศาล "ตร.-อัยการ"ต้องชี้แจงต่อสังคมให้เร็วที่สุด หลังตั้งคณะทำงานตรวจสอบ

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)   โพสเฟซบุ๊กระบุว่า คดีบอสยังไม่ถึงศาลอย่าพึ่งด่าศาล ศาลกับอัยการคนล่ะส่วนกัน แต่กระบวนการยุติธรรมต้องโปร่งใส อย่าให้ภาพมันชัดว่าคุกมีไว้ขังคนจน

กระบวนการยุติธรรมเริ่มตั้งแต่ "การออกกฎหมาย" และ "การบังคับใช้กฎหมาย" โดยทั่วไปองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการยุติธรรมเริ่มตั้งแต่องค์กรที่ออกกฎหมาย คือ รัฐสภา และองค์กรที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น ในคดีอาญา คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (พนักงานสืบสวนสอบสวน) องค์กรอัยการ (พนักงานอัยการ) และองค์กรตุลาการ (ศาล)

จากกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย "คดียังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและองค์กรอัยการ จึงควรต้องออกมารับผิดชอบชี้แจงความโปร่งใสของการออกคำสั่งดังกล่าว

ทั้งนี้ องค์กรอัยการนั้นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หากดูตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) แล้ว อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล จึงเป็นคนละส่วนแยกออกจากกัน อธิบายได้ดังนี้

โครงสร้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดบทบาทและหน้าที่ขององค์กรไว้ได้แก่ รัฐสภา (หมวด7) คณะรัฐมนตรี (หมวด8) ศาล (หมวด10) ศาลรัฐธรรมนูญ (หมวด11) องค์กรอิสระ (หมวด12) และองค์กรอัยการ (หมวด13) ซึ่งมาตรา 248 วรรค 1 และ 2 บัญญัติไว้ว่า “องค์กรอัยการมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง

สำหรับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) นั้น มาตรา 3 วรรค 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย โดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล” ซึ่งเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกหน้าที่ (Separation of Powers) โดย 1.รัฐสภา เป็น องค์กรนิติบัญญัติ ใช้อำนาจนิติบัญญัติ วางระเบียบบังคับทั่วไปในรัฐ เช่น การตรากฎหมาย 2.คณะรัฐมนตรี เป็น องค์กรบริหาร ใช้อำนาจปฏิบัติการ บริหารจัดการประเทศ 3.ศาล เป็น องค์กรตุลาการ ใช้อำนาจตุลาการในการวินิจฉัยอรรถคดี อย่างไรก็ดี การตรวจสอบการดำเนินการในคดีนี้ สามารถทำได้โดยนายกรัฐมนตรี และอัยการสูงสุด

ถึงแม้ว่านายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานดังกล่าว แต่ก็มีอำนาจในการตรวจสอบการทำงานได้ โดยที่ มาตรา 3 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”

ดังนั้นในคดีดังกล่าวเพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการตรวจสอบ แต่ไม่ใช่การใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี แต่เป็นอำนาจตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานสอบสวน และอัยการสูงสุดมีอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของพนักงานอัยการ เพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชนและศรัทธาของการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 หน่วยงานดังกล่าวต้องออกมาชี้แจงสังคมโดยเร็วที่สุดหลังตั้งคณะทำงานตรวจสอบ