สุดประทับใจหนุ่มพิการร่างกาย แต่ใจสู้เต็มร้อย สู่เจ้าของร้านทำทอง เลี่ยมพระ เครื่องประดับแฮนด์เมดทำรายได้หลักล้านบาทต่อปี
วันที่ 23 ก.ค. ผู้สื่อข่าวพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ นายสิวนัท แสงสำราญ บุคคลพิการตัวอย่างอีกคนของ จ. สุพรรณบุรี ที่ไม่ยอมแพ้กับความพิการของร่างกาย จนกลายมาเป็นเจ้าของร้านช่างนัทสุพรรณบุรี รับทำทองงานสั่ง เลี่ยมพระกรอบทอง ขึ้นรูปงานทอง ฝีมือขึ้นชื่ออันดับต้นๆ ของจังหวัด สร้างรายได้หลักล้านบาทต่อปี
นายสิวนัท แสงสำราญ อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/133 หมู่ 5 ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ชายพิการโดยกำเนิด มือ เท้าและกระดูกสันหลัง ผิดรูป แต่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ เล่าว่า ตนนั้นเป็นคน ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี มีพี่น้อง 3 คน ตนเป็นพี่คนกลาง ก่อนมาเป็นช่างทองในปัจจุบันนี้ เดิมทีที่บ้านรับเจียรนัยพลอย พอนานไปพ่อกับแม่เริ่มสายตาไม่ดี จึงเจียรนัยพลอยเม็ดเล็กไม่ได้ จึงไม่สามารถรับงานมาทำที่บ้านได้และเลิกกิจการไปในที่สุด โดยตนเองนั้นไม่ได้เรียนหนังสือแต่เป็นคนชอบเรียนรู้ ค้นคว้าและไม่อยู่นิ่งเฉย มักจะหางานรับจ้างทำเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพตนเอง ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี เนื่องด้วยสภาวะการเงินทางครอบครัวไม่ได้มีมากนัก โดยเริ่มทำงานรับจ้างตั้งแต่เป็น ช่างเย็บผ้าโหลส่งโรงงาน ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า คนรับซื้อของเก่าขาย แต่ก็รายได้ก็ไม่ดีมากนัก

จนถึงช่วงวัย อายุ 18 ปี ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ในขณะที่เดินหางานรับจ้างทำภายใน อ.เมืองสุพรรณบุรี ก็ได้เล็งเห็นอาชีพหนึ่งซึ่งตนเองคิดว่าน่าจะสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้ นั้นคืออาชีพ ช่างเลี่ยมกรอบพระพลาสติก แต่ในตอนนั้นไม่มีทุนพอที่จะซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ในการทำ นับว่ายังโชคดีที่มี อดีตนายก อบต.ตะค่า ได้ช่วยเหลือนำชื่อขึ้นทะเบียนคนพิการ จึงได้เงินจากเบี้ยยังชีพผู้พิการในจำนวน 3,000 บาท นำไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ในที่สุด ใช้เวลาฝึกฝน ลองผิดลองถูก จนชำนาญกว่า 1 เดือน จึงเปิดร้านรับเลี่ยมพระภายใต้ถุนบ้านไม้ที่อาศัยอยู่กับครอบครัว เพราะไม่มีเงินไปเปิดร้าน ระหว่างนั้นก็มีลูกค้านำพระมาเลี่ยม นานๆเข้า ก็มีลูกค้าจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บอกปากต่อปาก ว่าชิ้นงานเลี่ยมมีคุณภาพ ราคาถูก และส่งงานไว เวลาผ่านไปเริ่มพัฒนาฝีมือและเรียนรู้ที่จะเลี่ยมงานทองคำ จึงศึกษาจากช่างในวงการแกะกรอบพระ และศึกษาด้วยตนเองจนชำนาญ จึงลงทุนกู้เงินมาซื้อเครื่องรีดทองและทองคำแท่ง กระทั่งมีงานเลี่ยมทองมากขึ้นเรื่อยๆ จนขยายมาเปิดร้าน ช่างนัทสุพรรณฯ ภายในหมู่บ้านจัดสรร พีพี-9 ปัจจุบันมีพนักงานภายในร้าน 5 คน รับงานสั่งทำทองแฮนด์เมด เครื่องประดับเพชร กรอบพระทองคำ เลสข้อมือทองคำมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ปีล่ะหลักล้านบาท

สุดท้ายจึงอยากฝากเป็นแรงบันดาลใจให้พี่น้องที่พิการทุกชีวิตว่าอย่าย่อท้อต่ออุปสรรค อย่าคิดว่าตนเองนั้นมีปมด้อยหรือเป็นภาระให้สังคม ถึงแม้ร่างกายจะพิการแต่อย่าพิการใจ สู้ อดทน มานะ และจะประสบผลสำเร็จในชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข