ติดโควิด-19 ทั่วโลก ทะลุ 15 ล้านคน ดับกว่า 6 แสน

2020-07-23 07:15:36

ติดโควิด-19 ทั่วโลก ทะลุ 15 ล้านคน ดับกว่า 6 แสน

Advertisement


ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ทั่วโลก ทะลุ 15 ล้านคนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันพุธ และเสียชีวิตมากกว่า 619,000 คน ขณะที่ หลายประเทศยังคงมีความคิดเห็นแตกแยกเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้วิกฤตการระบาดของไวรัส โดยในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก 3.91 ล้านคน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ออกมาเตือนว่า “บางที สหรัฐอาจโชคไม่ดีที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะย่ำแย่ลงไปอีกก่อนค่อย ๆ ดีขึ้นในภายหลัง”

5 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด นอกจากสหรัฐแล้ว ก็มีบราซิล, อินเดีย, รัสเซียและแอฟริกาใต้ แต่จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงตามรายงานของรัฐบาลแต่ละประเทศ พบว่า การระบาดในอัตราเร่งที่เร็วที่สุดอยู่ในทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่งหนึ่งและเสียชีวิตครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลก ยังไม่มีสัญญาณการชะลอตัวของไวรัส



หลังจากมีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผ่านไปประมาณ 15 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อไวรัสก็พุ่งขึ้นไปเป็น 2 ล้านคน ขยับมาจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม ผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นไปเป็น 13 ล้านคน ซึ่งการระบาดของไวรัสยังรุนแรงต่อเนื่อง นับมาอีกแค่ 8 วัน ผู้ติดเชื้อทั่วโลกก็พุ่งเกิน 15 ล้านคนในวันพุธ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ย้ำว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีขีดความสามารถในการตรวจหาเชื้ออย่างจำกัด

ตัวเลขผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการทั่วโลก 15,009,213 คน ยังน้อยกว่าผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลถึง 3 เท่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ในขณะที่ ผู้เสียชีวิตมากกว่า 619,000 คนในช่วง 7 เดือน ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดของผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ประจำปี



การระบาดระลอกแรกของไวรัสโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในหลายประเทศ และกลับมาระบาดใหม่อีกในหลายประเทศ บางประเทศต้องหันกลับไปใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มข้นเหมือนเดิม ขณะที่บางประเทศก็ผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มต่าง ๆ

ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งคะแนนนิยมร่วงอย่างหนักกรณีการจัดการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัส และไม่สนใจความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระยะแรก ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างมีนัยสำคัญเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ด้วยการออกมาสนับสนุนให้ชาวอเมริกันช่วยกันสวมหน้ากากอนามัย เพื่อชะลาการระบาดของไวรัส ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้คัดค้านมาตลอด ซึ่งขณะที่ไวรัสยังคงระบาดอย่างเลวร้ายในสหรัฐ จุดประสงค์ของทรัมป์ก่อนการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คือการกดดันให้รัฐต่าง ๆ รีบเปิดเศรษฐกิจ และบรรดาผู้นำรัฐที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากไวรัส ทั้งรัฐเท็กซัส, ฟลอริดาและจอร์เจีย ยังคงต่อต้านข้อเรียกร้องดังกล่าว ด้วยการใช้มาตรการคุมเข้มมากขึ้น

ในบราซิล ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 2.15 ล้านคน รวมทั้งประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร และมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 81,000 คน ซึ่งโบลโซนาโร ก็ไม่ได้แตกต่างจากทรัมป์ ที่ระยะแรกไม่สนใจการระบาดของไวรัส แต่บราซิลก็เป็นประเทศสำคัญในการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19

ส่วนในอินเดีย อีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงกว่า 1 ล้านคน รายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 40,000 คนในวันพุธ ด้วยความรีบเร่งเปิดเศรษฐกิจ ขณะนี้ อินเดียกำลังเผชิญหน้ากับท้าทายยกกำลัง 2 ทั้งต่อสู้กับการระบาดของไวรัสและน้ำท่วมใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ



ขณะเดียวกัน 2 รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของแอฟริกาใต้ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากติดโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ แอฟริกาใต้ ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่สุดของแอฟริกา มีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้นกว่า 372,628 คน และเสียชีวิต 5,173 คน

ส่วนประเทศที่ต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มครั้งใหม่เพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัส อย่างเช่น สเปน ต้องประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปพักผ่อนตามชายหาดต่าง ๆ ในเมืองบาร์เซโลนา หลังจากฝูงชนทะลักเข้าไปเที่ยวแน่นชายหาดในช่วงสุดสัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลแนะนำให้พักอยู่ที่บ้าน

ในออสเตรเลีย ประชาชนในเมลเบิร์น เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากากในที่สาธารณะนับจากวันพุธเป็นต้นไป หลังจากประเทศรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงเป็นประวัติการณ์ 501 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลแคนาดา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปิดเศรษฐกิจใหม่ โดยมีผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ในหมู่วัยรุ่นที่ไปรวมตัวกันในบาร์