"สุวัจน์” ชี้แนวทางแก้ไขเศรษฐกิจสู้โควิด 19 ต้องเร็ว แรง ตรงเป้าหมาย ช่วยเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ให้สัมภาษณ์รายการคนหลังข่าว สถานีโทรทัศน์ TNN 16 ในประเด็นทางรอดเศรษฐกิจไทยยุควิกฤตโควิด-19 ว่า วันนี้เราไม่ต้องไปกังวลว่าเราวิกฤตคนเดียวหรือเปล่าเพราะทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมด เราอย่าท้อถอย เราต้องสู้วิกฤตที่เกิดมาครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุด คือปีนี้ทั้งปีเศรษฐกิจติดลบไป 10 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเราถอยหลังไป 3 ปี สมมติปีหน้าเรากลับมาเป็นปกติได้คือ บวกสาม และที่ติดลบมาแล้ว 10 เท่ากับเราต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะมาเป็นศูนย์ก่อน และอีกหนึ่งปีถึงจะมาเป็นบวกสาม สรุปจากวันนี้ไปอย่างน้อย 4-5 ปีถึงกลับมาจุดเดิม ฉะนั้นถ้าเรามองเป็นสองเฟสในการที่เราจะฟื้นตัวเศรษฐกิจ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่เกิดโควิด เรามีเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท มีสองก้อนที่เป็นเงินที่เกี่ยวกับข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง คือ 4 แสนล้าน เงินที่จะไปช่วยสร้างโครงการต่างๆ ในชนบท เพื่อให้เกิดการสร้างงานและอีก 5 แสนล้าน ไปให้กับ SME รวมเป็นเงิน 9 แสนล้าน ส่วนที่เหลือเป็นเงินทางด้านอื่น
“ผมคิดว่าวันนี้ในการฟื้นตัวของเราต้อง 1.เร็ว 2.แรง 3.ตรงเป้า ต้องเร็ว มาตรการต่างๆต้องเร็วหมายความว่า สมมติเรามีโครงการอยู่แล้ว 4 แสนล้านที่จะไปช่วยโครงการต่างๆ ในชนบท หรือ 5 แสนล้านในเรื่องซอฟโลน เอสเอ็มอีวันนี้ถ้าเราดูมันน่าจะเร็วกว่านี้ แต่มันก็มีเงื่อนไขในการปล่อยเงินที่ทำให้ล่าช้าเพราะธนาคารก็มีมาตรการของธนาคารในเงื่อนไขมากมาย เอสเอ็มอีก็ไม่ได้เงินเมื่อเอสเอ็มอีไม่ได้เงิน เอสเอ็มอี ก็ต้องปิดกิจการ คนก็ตกงาน สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือ กลัวร้านค้าปิดกิจการ กลัวคนตกงาน ฉะนั้น วันนี้มาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นซอฟโลน 5 แสนล้าน หรือ 4 แสนล้านโครงการไปสร้างงานในชนบท วันนี้ก็เพิ่งอนุมัติไปไม่ถึง 5 หมื่นล้าน อย่างนี้ทำอย่างไรจะให้มันเร็วขึ้น และเรื่องของ รัฐบาลก็ต้องรับปัญหารับโจทย์มาในการที่ต้องคุยกับธนาคารพาณิชย์ เรียกเอสเอ็มอี เรียกแบงค์ชาติ มาหารือกันว่าจะตั้งกฎเกณฑ์อะไรที่มันจะทำให้เกิดการเดินสายกลางให้พวกเอสเอ็มอีได้เงินและไปประกอบกิจการ ฉะนั้นผมจึงบอกว่าทุกคนต้องเข้าใจว่าในการเข้าไปทำงานเม็ดเงินนี้เป็นเม็ดเงินกู้ ที่ทุกคนเป็นลูกหนี้ร่วมกันทุกคนต้องระมัดระวังจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น งานนี้รัฐบาลก็ต้องเป็นเจ้าภาพในการที่จะสร้างกฎเกณฑ์ให้ทุกคนทำงานด้วยความสบายใจและมีความคล่องตัวในเงื่อนไขต่างๆที่ทุกฝ่ายรับกันได้ 2. ต้องแรง วันนี้เงิน 1.9 ล้านล้านพอหรือเปล่า เราก็ต้องคอยประเมินว่าเงิน 5 แสนล้าน หรือเงิน 4 แสนล้าน แรงพอไหม ไม่พอต้องเพิ่ม ถ้าเพิ่มจะเอาเงินที่ไหนก็ต้องคิดต่อไป แต่ว่าตอนนี้เป็นช่วงเริ่มต้นของเม็ดเงินที่กำลังลงไป ฉะนั้น ความเร็วบวกกับความแรงถ้าไม่พอก็ต้องใส่เพิ่มใส่ความแรงเข้าไป เพื่อเป็นการกระตุ้นจริงๆ 3. ต้องตรงเป้าหมาย คือ กระสุนต้องเร็วแรงไปตรงเป้า และมี Multiplier ตัวอย่าง โครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน ทุกกิจการได้ประโยชน์หมด รัฐบาลออก 40 เปอร์เซ็นต์ คุณจ่าย 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปทุกกลุ่, ผมมองว่าความเร็ว ความแรง และตรงเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้รัฐประสบความสำเร็จในเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เราก็เริ่มต้นด้วยเงินแค่นี้ก่อน “ตอนนี้ SME ต้องเป็น Supply Chain ที่สำคัญให้เข้าไปในขบวนการต่างๆ ของเศรษฐกิจ ก็ต้องเร่งแก้ไขเพราะถ้า SME เป็นอะไรไป อุตสาหกรรมอื่นก็หยุด ต้องตกงานกันมหาศาล ฉะนั้น สิ่งนี้ต้องเข้าไปแก้ไขเรื่องของ SME โดยด่วน” นายสุวัจน์ กล่าว