4 กลุ่มเตรียมเฮชง ศบค.ผ่อนปรนเฟส 6 เปิดให้เข้าไทย

2020-07-20 15:10:03

4 กลุ่มเตรียมเฮชง ศบค.ผ่อนปรนเฟส 6 เปิดให้เข้าไทย

Advertisement

ศบค. แย้ม คกก.เฉพาะกิจ เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาผ่อนปรนเฟส 6 ให้ 4 กลุ่มเข้าไทย

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ขณะมีคนไทยเรียกร้องต้องการที่จะเดินทางกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พร้อมร้องขอให้ ศบค.ขยายโควตาเพิ่มได้หรือไม่ จึงยืนยันว่าที่ผ่านมาเราทำอย่างเต็มที่ เดิมรับได้ 200 คน วันนี้เพิ่มมาเป็น 600 คน ซึ่งต้องใช้คนดูแลจำนวนมาก แต่เคสที่คนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เชื่อว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเสียค่าใช้จ่ายเอง หากจะเข้ามาอยู่ในสถานที่กักตัวซึ่งเป็นเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว เพราะตอนนี้สถานที่กักตัวมีไม่เพียงพอ เราอาจขยายตรงนี้ก่อน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับคนที่ไปทำภารกิจในต่างประเทศแล้วเดินทางกลับมานั้น เราขอความร่วมมือผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังทุกสถานทูตฯ ว่า เมื่อเข้ามาในประเทศเรา จะต้องไปอยู่ในสถานที่กักตัวซึ่งรัฐบาลจัดเอาไว้ให้ 14 วัน ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลใจ ส่วนกรณีที่นิตยสารนิวยอร์กไทมส์ ตั้งคำถามกับทั้งโลกว่า วัฒนธรรมการไม่สวมกอด, ภูมิต้านทานของคนไทยดี หรือการสวมหน้ากากอนามัย เป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยคุมไวรัสโควิด-19 ได้ดีจนเป็นที่ชื่อชมของคนทั้งโลก ตนในฐานะโฆษก ศบค.ขอบอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ เป็นเพราะผลการปฏิบัติตัวของคนไทยที่ให้ความร่วมมือกัน




เมื่อถามถึงการผ่อนคลายระยะที่ 6 ที่จะให้ชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม รวมถึงกองถ่ายภาพยนตร์จะเป็นรูปแบบใดบ้าง นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะพิจารณาอนุญาต 4 กลุ่ม คือ 1.ต่างชาติจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร โดยจะอนุญาตกลุ่มคนให้จำนวนหนึ่งเข้ามาในวันและเวลาที่กำหนด 2.อนุญาตให้ชาวต่างชาติมาถ่ายทำภาพยนตร์ได้ โดยมีตารางกำหนดแผน วัน และเวลา ซึ่งสามารถควบคุมได้ 3.อนุญาตใก้แรงงานต่างด้าว เข้ามาเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหาร และการก่อสร้าง เพราะต้องใช้คนจำนวนมาก 4.กลุ่มที่เข้ามารักษาพยาบาล เช่น เสริมความงาม และปรึกษาเรื่องการมีบุตร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่เข้ามาจะต้องอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 14 วันหรือกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน โดยคณะกรรมการเตรียมเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ ศบค.พิจารณาในวันที่  22 ก.ค.นี้