นักวิชาการ อพวช. ค้นพบ "มด-หอยทาก" จิ๋วชนิดใหม่ของโลก
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า ในทุกๆ ปี นักวิจัยจะออกสำรวจเพื่อศึกษาความหลากหลายเก็บตัวอย่าง และเป็นที่น่ายินดีที่นักวิชาการ อพวช. มักจะค้นพบสัตว์และพืชชนิดใหม่อยู่เสมอ ในปีนี้ค้นพบมด 5 ชนิดใหม่ของโลก โดย 2 ชนิดแรกพบที่ประเทศไทย ได้แก่ มดท้องคอดครูตู่ พบที่ จ.ตาก และมดท้องคอดลายร่างแห พบที่ จ.นครศรีธรรมราช และอีก 3 ชนิดพบที่เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ได้แก่ มดปากห่างเอะซุโกะ มดปากห่างอกร่อง และมดปากห่างครูเกรียง โดยมดชนิดใหม่ทั้ง 5 ชนิดนี้ถูกค้นพบและตั้งชื่อโดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรงหัวหน้าทีมวิจัย อพวช. รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร. เซกิ ยะมะเนะ Kagoshima University) ในเดือนก.ค. 2563 นอกจากนี้ น.ส.บังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ยังได้คนพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย พบในถ้ำวัว จ.แม่ฮ่องสอน และหอยทากจิ๋วเมืองออน พบในถ้ำเมืองออน จ.เชียงใหม่ ในเดือน ม.ค. 2563
ศ.ดร.รวิน กล่วต่อว่า ในขณะนี้ อพวช. ได้จัดแสดงนิทรรศการ “Land Snail & Land Slug” แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของหอยทากบกและทากบกที่พบในประเทศไทย พร้อมโชว์ตัวอย่างจริงของหอยทากจิ๋วลายตาข่าย และหอยทากจิ๋วเมืองออน ที่ถูกจัดแสดงไว้ในถ้ำจำลองที่มีลักษณะโครงสร้างเหมือนสถานที่พบจริง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี จึงขอเชิญประชาชนชาวไทยร่วมภาคภูมิใจไปกับการค้นพบของนักวิชาการไทยได้แล้ววันนี้
ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการ อพวช. กล่าวว่า ทั่วโลกพบมดท้องคอดเพียง 5 ชนิด ในจำนวนนี้ 3 ชนิดพบในทวีปอเมริกา อีก 2 ชนิดพบในเอเชีย คือ อินเดีย ศรีลังกา และญี่ปุ่น สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่เคยมีรายงานมดสกุลนี้มาก่อน ดังนั้นการค้นพบนี้ถือเป็นการค้นพบมดสกุลท้องคอดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมดชนิดใหม่ที่ค้นพบในครั้งนี้ ได้แก่ ท้องคอดครูตู่ มดท้องคอดลายร่างแห ยังมีแมลงอีกหลายชนิดที่เรายังไม่รู้จัก และกำลังจะสูญพันธุ์ไปก่อนที่เราจะค้นพบพวกมัน จากการที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามโดยกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ดังนั้นก่อนที่พืชหรือสัตว์จะสูญหายไป ก่อนที่เราจะรู้จักมันจึงจำเป็นต้องช่วยกันศึกษาทรัพยากรธรรมชาติของเราอย่างจริงจัง
ด้าน น.ส.บังอร ช่างหลอม นักวิชาการ อพวช. ผู้ค้นพบหอยทากจิ๋ว 2 ชนิดใหม่ของโลก กล่าวว่า ตัวอย่างหอยทากจิ๋วถูกค้นพบครั้งแรก โดย นายธัญญา จั่นอาจ อดีต ผอ.กองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา อพวช. จากนั้น ตนเองได้นำตัวอย่างมาศึกษาและจำแนกชนิดร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยบูรพา จึงแน่ใจว่าเป็น หอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก จึงช่วยกันบรรยายลักษณะ ตั้งชื่อเป็นหอยทากจิ๋วชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ หอยทากจิ๋วผิวตาข่าย พบในถ้ำวัว จ.แม่ฮ่องสอน หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่ผิวเปลือกมีลวดลายคล้ายตาข่ายละเอียด และมีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือกแตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ อาศัย เกาะบนผนังถ้ำที่แห้งๆ และมีแสงส่องถึงเล็กน้อยเท่านั้น พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย หอยทากจิ๋วเมืองออนพบในถ้ำเมืองออน จ.เชียงใหม่ หอยทากจิ๋วชนิดนี้มีตำแหน่งของฟันในช่องเปิดเปลือก แตกต่างจากหอยทากจิ๋วชนิดอื่นๆ ที่เคยมีรายงานมาก่อนหน้านี้ อาศัยเกาะบนผนังและหินงอกหินย้อย มีแสงส่องถึงเล็กน้อยและมีความชื้นสูง พบแพร่กระจายเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย
น.ส.บังอร กล่าวทิ้งท้ายว่า หอยทากจิ๋วผิวตาข่ายและหอยทากจิ๋วเมืองออน นับว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศเขาหินปูนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เป็นอาหารให้กับสัตว์ชนิดอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหาร เช่น นก และสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ภายในถ้ำปัจจุบันหอยทากจิ๋วมีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติเนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีถิ่นอาศัยจำเพาะต่อภูเขาหินปูนและมีการกระจายเป็นบริเวณแคบ ส่วนใหญ่มักพบกระจายอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น อีกทั้งยังถูกคุกคามจากการท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ การระเบิดทำลายภูเขาหินปูนเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมทำปูนซีเมนต์ การรุกล้ำพื้นที่ถ้ำเพื่อทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมี เป็นต้น