“พุทธิพงษ์” ใช้ดิจิทัลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมหนุนไทยฝ่าวิกฤตโควิด-19 เพิ่มความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในโอกาสพบปะสื่อประจำเดือนว่า ตั้งแต่เข้ามาจนถึงวันนี้มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหาที่ค้างมานาน ด้วยระเบียบการขับเคลื่อน การตั้งคณะทำงาน จึงทำให้มีการติดค้างมานาน เรื่องกองทุน DE ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นปัญหาที่ค้างคาให้เกิดการใช้ประโยชน์ และถูกต้องตามระเบียบรายละเอียดการใช้ประโยชน์กองทุน ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ชัดเจนจึงมีการกำหนด 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การเงิน การเกษตร การขับเคลื่อนระบบรัฐบาล การพัฒนาคนและการจ้างงาน และการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งมีการแบ่งคณะกรรมการเป็นหลายชุด
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้มีการอนุมัติการใช้งานไป 3 ครั้ง โดยมีโครงการที่แทรกช่วงโควิด เป็นโครงการที่ช่วยเรื่องการรักษาพยาบาล และการช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด เช่น ระบบ AI ของเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น เรื่อง Big Data ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ทำเรื่อง Big Data ให้เสร็จ วันนี้เราได้เอาข้อมูลของการท่องเที่ยวมาใส่ใน Dashboard จะเห็นประโยชน์อย่างมาก และมีการเชื่อมโยงข้อมูลการเยียวยาประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเยียวยา 5,000 บาท และอื่นๆ มาเป็นรายละเอียดให้ผู้บริหารเห็นว่าใครบ้างที่อาจจะตกหล่น ไม่ได้รับสิทธิ์ มีกี่คนที่เข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐ และมีใครที่ไม่ได้เข้าถึงทั้งที่เดือดร้อนอยู่ เป็นต้น
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เรื่องโรงพยาบาล คือการแชร์ข้อมูลคนไข้ของโรงพยาบาล ในเดือน ส.ค.จะมีการเปิดตัวโรงพยาบาลเครือข่ายที่เข้าร่วม ทั้งหมด 40 กว่าเครือข่าย เป็นเฟสแรกที่เริ่มทำแล้ว เราได้มีการทำการเชื่อมโยงกับ รพ.ศิริราช รพ.รามธิบดี รพ.สมุทรปราการ เรียบร้อยแล้ว หากไปพบแพทย์สามารถใช้บัตรประชาชนได้ ส่วนเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 มีไทม์ไลน์คือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงวันที่เรามีผู้ติดเชื้อในประเทศเป็นศูนย์ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐมนตรีด้านดิจิทัลในอาเซียนหลายประเทศได้ให้ความชื่นชมในการที่ผลักดันให้เกิด Work From Home ในข้าราชการ ทำให้ข้าราชการสามารถทำงานที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และที่เราขอความร่วมมือ กสทช. และ operator ที่ใช้ฟรี internet ซึ่งมีผู้ใช้ประมาณ 15 ล้านคน
“สามเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด คือการทำให้คนไทยได้รู้ว่าจะมีการควบรวม CAT และ TOT เพราะหมายถึงการที่ทำให้คนด้อยโอกาสได้มีโอกาสใช้ 5G อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เช่นนั้น 5G จะเป็นระบบที่มีใช้เฉพาะคนรวย ซึ่งจะเสียโอกาส และการควบรวมนี้จะทำให้องค์กรที่เคยอยู่กับประเทศไทยมายาวนาน มีความเข้มแข็งมากขึ้น จึงท้าทายเพราะมีหลายมิติ และนำไปสู่การพัฒนาในอนาคต เมื่อควบรวมกันเสร็จ ผมอยากเห็นหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ที่นำ 5G ไปสู่การปฏิบัติ มาใช้ 5G ที่ให้บริการของบริษัท NT ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนของการเข้าถึงการสื่อสาร” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ New Normal เราต้องเริ่มอยากเรื่อง basic คือการสื่อสาร ให้คนต่างจังหวัดทั้งหมด เข้าถึงการศึกษาได้ เพราะในปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารยังไม่แรงพอทีจะทำให้เรียนออนไลน์ได้ เรื่องที่สองคือการดำเนินการผลักดันให้ Digital Valley เกิดขึ้นจริง เพราะก่อนหน้านี้มีการเตรียมพัฒนาเป็นสถาบัน IoT ซึ่งวันนี้พอเปลี่ยนเป็น Digital Valley ก็จะทำให้มีเม็ดเงินและ traffic รวมถึงประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น ที่เราเคยไปเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ หลายคนสงสัยว่าหลังโควิดยังยืนยันที่จะมาลงทุนในเมืองไทยหรือไม่ สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เพิ่งติดต่อมาเพื่อยืนยันจะมาลงทุนในประเทศไทย ประมาณ 30,000 ล้านบาท ในพื้นที่ Thailand Digital Valley และเรื่อง GDCC เป็นสิ่งที่ทุกคนพูดมานานแล้วว่ารัฐบาลดิจิทัลหรือ e-government เกิดไม่ได้หากเราไม่มีฐานข้อมูลกลางของเราเอง วันนี้ใกล้สิ่งที่ตั้งเป้าไว้ปี 64 น่าจะพัฒนาไปได้ตามเป้าที่วางแผนไว้
“สามโครงการนี้เป็นสามโครงการที่ขยายและต่อยอดไปที่การช่วยเหลือสังคม ซึ่งผมพูดไว้ตั้งแต่แรกว่ากระทรวงนี้ เป็นกระทรวง MDES ด้านสังคมจึงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่สามารถทำสามเรื่องนี้ให้เสร็จได้ สามเรื่องนี้จึงตอบโจทย์ที่บอกว่ากระทรวงนี้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตควบคู่กันไป” นายพุทธิพงษ์ กล่าว