สปสช.จ่อฟันคลินิก 63 แห่งทุจริตเงินบัตรทอง

2020-07-15 18:15:29

สปสช.จ่อฟันคลินิก 63 แห่งทุจริตเงินบัตรทอง

Advertisement

สปสช.พบอีกคลินิก 63 แห่งเบิกจ่ายงบบัตรทองไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เตรียมเรียกเงินคืนอีกกว่า 2.4 ล้าน ขยายตรวจสอบ 100 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  มีการแถลงข่าวความคืบหน้า สปสช.ดำเนินคดี 18 คลินิกทุจริตเงินบัตรทอง พร้อมขยายผลตรวจสอบ พบอีก 63 แห่งข้อมูลไม่ถูกต้อง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากกรณีที่ สปสช.ตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าบริการคัดกรองโรคในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของคลินิกเอกชน 18 แห่ง ในพื้นที่ กทม. วันนี้  สปสช.ขอแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับคลินิกเอกชนที่ทุจริตการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทอง พร้อมความคืบหน้าหลังจาก สปสช.ได้ขยายผลตรวจสอบหน่วยบริการในการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง ทั้งนี้ ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการกรณีคลินิกเอกชน 18 แห่ง ทุจริตเงินบัตรทองนั้น สปสช.ได้ดำเนินการดังนี้  1.ระงับจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของหน่วยบริการทั้ง 18 แห่ง  2.เรียกคืนเงินตามจำนวนที่ตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง โดยเป็นยอดเรียกคืนทั้งสิ้น 74,397,720 บาท ขณะนี้เรียกคืนแล้ว 60,773,809 บาท คงเหลือยอดค้างชำระรอเรียกคืน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 63 จำนวน 13,623,911 บาท  3.แจ้งความตามคดีอาญา พร้อมส่งมอบเอกสารหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 63  4.วันที่ 7 ก.ค. 63 สปสช. ส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว  5.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ก.ค.63 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริต วันที่ 8 ก.ค. 63  6.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการประจำทั้ง 18 แห่ง และประกาศยกเลิกการเป็นหน่วยบริการ วันที่ 9 ก.ค. 63 โดย สปสช.จัดระบบให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกว่า 2 แสนรายใน 18 คลินิกเอกชนใน กทม. ได้รับการดูแลแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะได้รับการย้ายหน่วยบริการอัตโนมัติ ผู้ป่วยส่งต่อในระหว่างนี้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว 7.ขอความร่วมมือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมส่งทีมสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย  8.เสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข 9.วันที่ 14 ก.ค.63 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริตประชุมนัดแรก

“หลังจาก สปสช.เขต 13 กทม.ตรวจพบข้อมูลการเบิกจ่ายของคลินิก 18 แห่ง ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน สปสช.จึงได้ขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการที่มีการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง ขณะนี้พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง เป็นจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืนประมาณ 2.4 ล้านบาท แต่หลังจากแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยบริการรับทราบ มีหน่วยบริการ 11 แห่งขออุทธรณ์ผลการตรวจสอบ อีก 52 แห่งไม่อุทธรณ์ ซึ่ง สปสช.ต้องดำเนินการขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป” นพ.ศักดิ์ชัย กล่า

เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ประเด็นที่ตรวจพบ คือ ไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ขณะนี้ สปสช.เร่งดำเนินการตามกฎหมายและดำเนินคดี โดยในวันที่ 16 ก.ค. คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ อปสข.กทม. จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อการเรียกเงินคืน ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. ได้ขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการทั้ง 63 แห่ง ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจในวันที่ 30 ก.ค.-11 ส.ค.63 เป็นการตรวจสอบ ณ หน่วยบริการ และวันที่ 16 ก.ค. 63 นำเสนอ อปสข.พิจารณาดำเนินการต่อไป

ด้าน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยบริการเพิ่มอีก 86 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน 20 แห่ง และคลินิกเอกชน 66 แห่งนั้น พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง เป็นจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืน 2,473,600 บาท แต่เมื่อแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยบริการรับทราบ มีหน่วยบริการ 11 แห่งขออุทธรณ์ผลการตรวจสอบ อีก 52 แห่งไม่อุทธรณ์

นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ตรวจพบคือ ไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง การตรวจพบดังกล่าวเป็นการตรวจพบเบื้องต้นจากการสุ่มตรวจ ยังไม่ได้ตรวจทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. เตรียมขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการทั้ง 63 แห่ง ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจในวันที่ 30 ก.ค.-11 ส.ค.63 เป็นการตรวจสอบ ณ หน่วยบริการ โดยมีการเรียกเงินคืน พร้อมกับนำเสนอคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หรือ อปสข.กทม.ครั้งที่ 3/2563 วันที่ 16 ก.ค. 2563 พิจารณาการดำเนินการ ขยายการตรวจสอบไปยังรายการเบิกจ่ายตามรายการ (fee schedule) ทุกรายการ ในทุกหน่วยบริการทุกระดับ ระงับการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทั้งหมดที่พึงได้รับของทั้ง 52 หน่วยบริการ ในปีงบประมาณ 2563 จนกว่าผลการตรวจสอบ จะเสร็จสิ้นให้ สปสช.เรียกคืนเงินจากทุกหน่วยบริการตามจำนวนที่ตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ไม่ถูกต้อง พร้อมเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาหักค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป