New Normal Behavior สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา

2020-07-14 16:00:11

New Normal Behavior สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา

Advertisement

New Normal Behavior สำหรับเด็กนักเรียน นักศึกษา

ช่วงนี้เริ่มเปิดเทอมกันแล้ว หลาย ๆ คนก็เป็นห่วงว่าจะเกิด COVID-19 ระลอกสองอีกครั้งหรือไม่ หลังจากที่ประเทศไทยเราไม่มีเคสใหม่ที่มีการระบาดในประเทศมามากกว่าหนึ่งเดือนแล้ว มีแต่เคสใหม่จากผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและกักตัวอยู่ที่สถานกักตัวของรัฐบาลที่เรียกว่า State quarantine แต่ยังมีความกังวลกันอยู่เมื่อมีการเปิดโรงเรียนเนื่องจาก ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกันในขณะเรียน และทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงขอแนะนำ new normal behavior สำหรับเด็กนักเรียน และนักศึกษา

1. รักษาระยะห่างทางสังคม ควรอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1.5 ถึง 2 เมตร โดยจัดโต๊ะเรียนเป็นโต๊ะเดี่ยวห่างจากกันตามระยะที่กำหนด

2. หากใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ควรใส่ให้คลุมปากหรือจมูก ให้ถูกวิธี มีการล้างมือก่อนและหลังการใส่หน้ากากอนามัย และเก็บให้ถูกวิธี หากนำหน้ากากผ้ามาใช้ซ้ำให้ซักด้วยสบู่หรือผงซักฟอกทุกวันก่อนนำมาใช้ซ้ำ

3. ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำและสบู่ตาม 7 ขั้นตอนหลัก (**อาจแนบโปสเตอร์ที่เคยทำเรื่องล้างมือ) อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะก่อนและหลังสัมผัสบริเวณที่มีความเสี่ยง เช่น ประตูห้องน้ำ เป็นต้น หากเป็นเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแอลกอฮอล์เจลบ่อยจนเกินไป คุณครูควรกำกับดูแลการล้างมืออย่างใกล้ชิด

4. งดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยฟุ้งกระจาย โดยอาจหาวิธีการที่สร้างสรรค์อื่น ๆ แทน เช่น การเป่าเทียนวันเกิดอาจการใช้มือหรือพัดเป่าเทียนแทน การจัดกิจกรรมรับน้อง อาจงดการเปล่งเสียงเพลงเชียร์ในห้องแคบ ๆ

5. กิจกรรมที่ปกติเคยเกิดขึ้นบางอย่างอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น การเข้าแถวร้องเพลงหรือสวดมนต์เป็นหมู่ อาจให้เด็กฟังแล้ว ร้องเพลงหรือสวดมนต์ในใจ แทนที่จะเปล่งเสียงออกมา หรือการทานอาหารในโรงอาหาร อาจปรับให้มีการทานที่โต๊ะเรียน มีการใช้ฉากกั้นเพราะขณะทานอาหารจำเป็นต้องถอดหน้ากากออก

6. ลดความหนาแน่นของสถานที่ต่าง ๆ ในโรงเรียน อาจมีการเปิดเรียนสลับกัน และมีการเรียนออนไลน์

7. ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสในบริเวณที่มีการใช้ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ราวน์บันได โต๊ะทานข้าว เป็นต้น

8. หมั่นสังเกตอาการตนเองและเพื่อนร่วมชั้นเรียน หากมีไข้ ไอ จาม เหนื่อยหอบ เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น รับรสผิดปกติ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID -19 ควรหยุดไปเรียนก่อน และไปพบแพทย์

เพียงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมง่าย ๆ เท่านี้ ทำให้การไปเรียนของน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา มีความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากช่วยกันดูแลทางด้านกายภาพแล้ว อย่าลืมดูแลจิตใจของนักเรียน นักศึกษาด้วยนะคะ เนื่องจากสถานการณ์ COVID -19 นี้อาจมีหลายคนเกิดความเครียดทั้งในการใช้ชีวิตทั่วไป การเรียน เศรษฐกิจ รวมทั้งการเรียนออนไลน์เอง

มาช่วยกันคนละไม้คนละมือให้ประเทศไทยเราผ่านวิกฤตนี้ไปได้กันค่ะ

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล