"ครูจุ๊ย" อัด ศธ.ออกระเบียบทรงผมแต่ปฏิบัติไม่ได้จริง

2020-07-13 23:10:42

"ครูจุ๊ย" อัด ศธ.ออกระเบียบทรงผมแต่ปฏิบัติไม่ได้จริง

Advertisement

"ครูจุ๊ย" อัด ศธ.ออกระเบียบทรงผม แต่ปฏิบัติไม่ได้จริง  ปลุกยุติส่งต่อ "วัฒนธรรมอำนาจนิยม" ในสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ "ครูจุ้ย" กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ "ศีรษะนักเรียนและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ" สืบเนื่องจากกรณีระเบียบทรงผมนักเรียนที่เป็นข่าวคราวอยู่ในขณะนี้ว่า  เวลาเปิดเทอมเรื่องทรงผมจะผุดขึ้นมาให้เป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้น บทสนทนาและวาทกรรมที่มีมานานยังวนเวียนมาให้ได้ยินไม่เปลี่ยนแปลง แปลง่ายๆ ว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้คนยังไม่เข้าใจ กระทรวงศึกษาก็ยังไม่รู้ประสาอะไร ระเบียบทรงผมและการลงโทษเป็นสองเรื่องที่เชื่อมโยงกัน แต่ต้องพิจารณาแยกกัน กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยเรื่องทรงผมของนักเรียน แต่ก็มีหน้าที่ในการทำให้โรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เข้าใจและปฏิบัติตามระเบียบเหล่านี้ให้ได้ แต่กลับทำไม่ได้ดีนัก หลักฐานเชิงประจักษ์เห็นจะเป็นการใช้อำนาจออกระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้จริงออกมา คำถามชวนคิดคือ กระทรวงศึกษาธิการมีความตั้งใจจริงหรือไม่ในการสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ระบุเอาไว้กว้างๆ ว่านักเรียนสามารถไว้ทรงผมสั้นหรือยาวก็ได้แต่ต้องจัดการให้เรียบร้อย และสถานศึกษาต้องยอมให้ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ขอให้ยึดระเบียบข้างต้นเป็นสำคัญ

น.ส.กุลธิดา รุะบุว่า โรงเรียนบางแห่งไม่ทำตามระเบียบ ส่วนกระทรวงศึกษาธิการเองก็ทำหน้าที่อยู่ไม่กี่อย่าง อันได้แก่ หนังสือชี้แจง หนังสือซักซ้อม และคู่มือศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนหรือแม้กระทั่วตัวศูนย์เฉพาะกิจเอง ทั้งหมดได้กลายเสือกระดาษโดยสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นรายงานที่คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรได้รับคือ ศูนย์เฉพาะกิจนี้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็กรวมกัน 3 กรณีในปีที่แล้ว สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการตรวจสอบร้องเรียนครูและสถานศึกษาอย่างชัดเจน 

"กระทรวงศึกษาธิการมีงบประมาณค่าใช้จ่ายไปกับบุคลากรกว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถทำให้บุคลากรของตนปฏิบัติตามระเบียบที่ตนเองออกมาเองหรือ หน้าที่การกำกับดูแลบุคลากรเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเฉพาะเจาะจงไปกว่านั้นได้แก่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน และครุสภา รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่อย่างศึกษาธิการจังหวัด ศึกษานิเทศในเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการประสานงานสร้างความเข้าใจระหว่างภาคนโยบายและภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องทำหน้าที่สร้างความเข้าใจรับผิดชอบบุคลากรของตน ก็ยังไม่ทำ ทำไม่ได้ หรือไม่อยากทำ ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมนี้ ท้ายที่สุดทั้งหมดที่ดิฉันเขียนไปจะเกิดขึ้นได้หากกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหาร ครู อาจารย์เข้าใจตรงกันว่าไม่มีใครมีอำนาจเหนือสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของใคร ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาล้วนมีหน้าที่พิทักษ์ ดูแล และปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของนักเรียน อันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดของการศึกษาในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต อะไรที่เคยทำไม่จำเป็นว่ามันจะดีงามเสมอมาและตลอดไป ร่วมกันไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมทุกรูปแบบในสถานศึกษา โรงเรียนต้องปลอดภัยสำหรับทุกคน" น.ส.กุลธิดา ระบุ