พลันที่ศาลสูงตุรกีมีคำพิพากษาเมื่อวันศุกร์ว่า กฤษฎีกาที่ 1934 กำหนดเปลี่ยนสถานะ “ฮาเกีย โซเฟีย” (Hagia Sophia) โบสถ์คริสต์โบราณของนิกาย “ไบแซนไทน์” ในนครอิสตันบูล ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปูทางไปสู่การเปลี่ยนคืนสถานะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กลับไปเป็นมัสยิดอีกครั้ง ท่ามกลางความวิตกกังวลของนานาชาติ ประธานาธิบดีเทย์ยิป เออร์โดวาน ผู้นำตุรกี ไม่รอช้า ประกาศเปลี่ยนฮาเกีย โซเฟีย กลับไปเป็นมัสยิดตามคำพิพากษาของศาลทันที ซึ่งตัวประธานาธิบดีเออร์โดวานเอง ที่เป็นคนเสนอให้คืนสถานะมรดกโลกที่สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 6 แห่งนี้ เป็นมัสยิด โดยสถานที่แห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวคริสต์ไบแซนไทน์ และอาณาจักรมุสลิมออตโตมัน ก่อนที่จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในตุรกีไปแล้วในขณะนี้
ฮาเกีย โซเฟีย ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะโบสถ์คริสต์, พิพิธภัณฑ์ หรือมัสยิดก็ตาม ก็ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง สถานที่แห่งนี้ แรกเริ่มเดิมที ถูกสร้างขึ้นเป็นโบสถ์ของศาสนาคริสต์และยังเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชนตะวันตก ยุคไบเซนไทน์ (Byzantine) โบสถ์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นวิหารของพระราชาคณะแห่งคอนสแตนติโนเปิล และเป็นโบสถ์ของนิกายไบแซนไทน์ในเวลาเดียวกันนานกว่า 1,000 ปี
ฮาเกีย โซเฟีย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ 1,500 ปีก่อน ในฐานะวิหารคริสต์ออร์ทอดอกซ์ ต้องถูกแปรสภาพไปเป็นมัสยิด หลังอาณาจักรออตโตมันชนะสงคราม บุกยึดเมืองหลวงและดัดแปลงทุกสิ่งทุกอย่างภายในโบสถ์ และท้ายที่สุดก็เปลี่ยนเป็นมัสยิดของมุสลิม ในปีค.ศ.1453 หรือตรงกับพ.ศ.1996 แต่พอในปี พ.ศ.2477 สถานที่สำคัญแห่งนี้ ก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในยุคแรกของตุรกีสมัยใหม่ภายใต้การนำของมุสทาฟา เคมัล อาตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งตุรกีและประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ และขณะนี้ ถูกขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
หลังคำพิพากษาไม่ถึงชั่วโมง ประธานาธิบดีเออร์โดวาน ก็ได้แชร์สำเนาคำพิพากษาเผยแพร่ทางทวิตเตอร์ พร้อมกับระบุว่า สถานที่แห่งนี้ ถูกมอบให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการศาสนาของตุรกีเป็นผู้บริหารจัดการและเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาเข้าประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อีกครั้ง โดยในการกล่าวผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในช่วงเย็น ผู้นำตุรกี กล่าวว่า จะอนุญาตให้เริ่มการสวดมนต์ในมัสยิดฮาเกีย โซเฟีย ได้ครั้งแรกในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
เออร์โดวาน กล่าวด้วยว่า การเปิด ฮาเกีย โซเฟีย เพื่อให้ประชาชนเข้าประกอบพิธีทางศาสนา จะไม่เป็นอุปสรรคต่อนักท่องเที่ยวท้องถิ่น หรือต่างชาติ ในการเข้าไปเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ ซึ่งเขาบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “มรดกวัฒนธรรมร่วมกันของมนุษยชาติ”

“ก็เหมือนกับมัสยิดแห่งอื่น ๆ ของตุรกี ประตูฮาเกีย โซเฟีย จะเปิดกว้างรับทุกคน ทั้งชาวท้องถิ่น หรือต่างชาติ, ทั้งที่เป็นชาวมุสลิม และไม่ใช่ชาวมุสลิม” ผู้นำตุรกีกล่าวเพิ่มเติม
หากย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 6 ฮาเกีย โซเฟีย เป็นหนึ่งในสถานที่ทางวัฒนธรรมที่น่ามาเยือนมากที่สุด และเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกด้วย ซึ่งทางยูเนสโก ก็ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของนายเออร์โดวาน ที่มีต่อสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ด้วย และแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการตัดสินใจเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นมัสยิด โดยได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งในวันศุกร์ว่า อาคารแห่งนี้เป็น “สัญลักษณ์ที่เด่นชัดและมีคุณค่าอย่างสากล” และเรียกร้องให้ตุรกีเปิดการเจรจาอย่างไม่รอช้า ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าสากลของสถานที่ อย่าได้เปลี่ยนแปลงสถานะของฮาเกีย โซเฟีย โดยที่ไม่มีการรือกัน
ก่อนการพิพากษาของศาลสูง ซึ่งเปิดการไต่สวนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐ, รัสเซียและกรีซ และบรรดาผู้นำศาสนาคริสต์ ออกมาเตือนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว
อัครบิดรสากลบาร์โธโลมิว ผู้นำด้านจิตวิญญาณของชาวคริสเตียนออร์ทอดอกซ์ ที่มีศาสนิกประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลกและอยู่ในอิสตันบูลด้วย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะฮาเกีย โซเฟีย ครั้งนี้ จะทำให้ชาวคริสเตียนผิดหวัง และจะทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างตะวันออกและตะวันตก ขณะที่ ผู้นำศาสนาออร์ทอดอกซ์ของรัสเซีย กล่าวว่า มันจะเป็นภัยคุกคามต่อศาสนาคริสต์ ด้านนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และรัฐบาลกรีซ ก็เรียกร้องให้ตุรกีรักษาสถานที่สำคัญแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เหมือนเดิม

ส่วนรัสเซียมุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านวัฒนธรรมของอาคาร ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็น “กิจการภายใน” ของตุรกี