ดาวเคราะห์น้อย 5 ดวงนัดกันมาเยือนโลก

2020-07-08 10:00:38

ดาวเคราะห์น้อย 5 ดวงนัดกันมาเยือนโลก

Advertisement

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา ประกาศให้นักดาราศาสตร์และนักดูดาวสมัครเล่นทั่วโลก รอต้อนรับการมาเยือนโลกมนุษย์ ของดาวเคราะห์น้อย 5 ดวง จากอวกาศไกลโพ้น ในระยะไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่ระระบบเซนทรี ของนาซา เตือนว่า มีดาวเคราะห์น้อยอีกดวง มีโอกาสพุ่งชนโลกมากที่สุด แต่จะมาเยือนโลกอย่างเร็วสุดในอีก 32 ปีข้างหน้า

ช่วงสุดสัปดาห์ที่จะมาถึง ดาวเคราะห์น้อย 2 ดวงคือ ดาวทูเธาเซินด์ทเวนตี เอ็มยูวัน (2020 MU1) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 120 ฟุต หรือประมาณครึ่งหนึ่งของปีกเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 747 และดาวทูเธาเซินด์ทเวนตี เอ็มแอล (2020 ML) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 73 ฟุต ขนาดครึ่งหนึ่งของส่วนสูงประตูชัย ในกรุงปารีส คาดว่าจะพุ่งเฉียดผ่านโลก ในระยะห่าง 4.4 ล้านไมล์ และ 2.7 ล้านไมล์ ตามลำดับ

ในสัปดาห์หน้า จะเป็นการมาเยือนของดาวเคราะห์น้อยอีก 3 ดวง เริ่มจากวันที่ 13 ก.ค. ดาวทูเธาเซินด์ทเวนตี เคเจ เซเว่น (2020 KJ7) เส้นผ่าศูนย์กลาง 96 ฟุต ประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงหอเอนเมืองปิซา ในอิตาลี และดาวทูเธาเซินด์นายน์ โอเอสไฟว์ (2009 OS5) เส้นผ่าศูนย์กลาง 150 ฟุต หรือประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงอนุสาวรีย์เทพีแห่งสันติภาพ ในนครนิวยอร์ก จะมาเยือนทักทายชาวโลก ในระยะห่าง 2.8 ล้านไมล์ และ 4.2 ล้านไมล์ ตามลำดับ จากนั้นก็จะเป็นดาวทูเธาเซินด์ทเวนตี เอ็มคิว (2020 MQ) ซึ่งจะพุ่งผ่านโลกในระยะห่าง 4 ล้านไมล์




เพื่อเป็นการเปรียบเทียบ โลกอยู่ห่างจากดวงจันทร์ ดาวงบริวารหนึ่งเดียว ประมาณ 239,000 ไมล์ หรือ 385,000 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน ระบบเซนทรี (Sentry System) ของนาซา ซึ่งเป็นระบบเฝ้าระวัง และคิดคำนวณอัตโนมัติ การพุ่งชนโลกของดวงดาวต่างๆ ที่อยู่นอกโลก บ่งชี้ว่า มีดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกโดยตรงมากที่สุด ดาวดวงนี้ชื่อ ทูเธาเซินด์ทเวลฟ์ เอชจีทู (2012 HG2) มีโอกาสสูงถึง 1 ใน 469 ที่จะชนโลกระหว่างปี พ.ศ. 2595 ถึงปี พ.ศ. 2662 โดยโอกาสที่จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดคือ ในวันที่ 12 ก.พ. 2595



แต่เนื่องจากดาวดวงนี้ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงแค่ประมาณ 46 ฟุต จึงไม่น่าจะเกิดอันตรายเมื่อกระทบพื้นโลก เนื่องจากมันจะถูกเผาไหม้กลายเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ขณะพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศด้วยความเร็วสูง

คาดว่าดาว 2012 HG2 จะพุ่งผ่านโลกในวันที่ 22 ต.ค. ปีนี้ ในระยะห่างประมาณ 33 ล้านไมล์ ก่อนจะวกกลับมาในทิศทางตรงเข้าหาโลก อย่างเร็วที่สุดในอีก 32 ปีข้างหน้า.