โพลคนไทยอยากให้เข้มโควิด แก้ตกงานก่อนส่งเสริมท่องเที่ยว

2020-07-06 19:30:03

โพลคนไทยอยากให้เข้มโควิด  แก้ตกงานก่อนส่งเสริมท่องเที่ยว

Advertisement



รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 6 ก.ค.63 มีผู้ป่วยเพิ่ม 5 ราย ในสถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) และไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 42 หรือ 6 สัปดาห์แล้ว


ผู้ติดเชื้อที่พบ เดินทางกลับจากประเทศคูเวตทั้ง 5 ราย เป็นชายไทย 4 ราย อายุ 34,46,48และ 51 ปี อาชีพรับจ้าง และหญิงไทยอายุ 37 ปี อาชีพพนักงานนวด ถึงไทยพร้อมกันวันที่ 29 มิ.ย.63 ตรวจพบเชื้อวันที่ 2 ก.ค.63 จำนวน 3 ราย วันที่ 5 ก.ค.63 พบอีก 2 ราย ทุกคนไม่มีอาการ ทั้งนี้ เที่ยวบินเดียวกันมีรายงานก่อนแล้ว 5 ราย





จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 3,195 ราย หายป่วยแล้ว 3,072 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล 65 ราย


สำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศ ตั้งแต่เริ่มเปิดรับจนปัจจุบันมีทั้งสิ้น 52,957 ราย ตรวจพบเชื้อ 258 ราย โดยกลุ่มที่มาจากประเทศคูเวต มีจำนวน 293 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 44 ราย(17.05%) เทียบกับที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย 1,292 ราย มีผู้ติดเชื้อ69 ราย (26.74%)





แต่ก็เป็นกลุ่มที่ไม่น่าห่วง เพราะมาถึงก็ถูกตรวจเชื้อและกักตัวทันที สัดส่วนผู้ติดเชื้อเทียบกับจำนวนผู้เดินทางก็น้อยนิด ที่น่าห่วง น่าจะเป็นรายงานจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.)ชุดเล็ก แจ้งว่า 1 เดือนที่ผ่านมา มีต่างด้าวหลบหนีเข้าประเทศผ่านจุดผ่านแดนทางบกกว่า 3,000 คน ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยืนยันว่า ดูแลอย่างดี และผลักดันบางส่วนกลับประเทศ



ส่วนสถานการณ์ของโลก จำนวนติดเชื้อสะสม 11.5 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 530,000 ราย สหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมและเสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 1 โดยผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2,900,000 ราย คาดว่าอีกไม่นานจะถึง 3 ล้านราย มีบางประเทศทางยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส ผู้ติดเชื้อใหม่เป็น 0 ราย แต่สถานการณ์โดยรวมในต่างประเทศ ก็ยังไม่น่าไว้วางใจเพราะเส้นกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง


นอกจากนี้ปรากฏว่า ผู้ติดเชื้อสะสมของอินเดียแซงหน้ารัสเซียขึ้นเป็นลำดับที่ 3 ของโลก ส่วนในอาเซียน ยอดผู้ติดเชื้อของฟิลิปปินส์พุ่งทำสถิติสูงที่สุดถึง 2,424 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมของฟิลิปปินส์ถึง 44,254 ราย





ประเทศไทยขณะนี้อยู่ลำดับที่97 




กรณีที่มีข่าวชาวต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศ เกรงจะมีโรคโควิด-19 เกิดขึ้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เป็นไปตามประกาศและคำสั่ง ศบค.อนุญาตให้ผู้ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้าตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย แต่ไม่เป็นการเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 โดยตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.ค.63 มีผู้เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลใน กทม. 3 ราย เป็นผู้ป่วยเก่าที่เคยรับการรักษาพยาบาล จากประเทศเมียนมา มัลดีฟส์ และกาตาร์ ประเทศละ 1 ราย มีผู้ติดตาม จากเมียนมา 1 คน จากมัลดีฟส์ 1 คน ทั้งหมดตรวจไม่พบเชื้อโควิดที่ประเทศต้นทางมีเอกสารสำคัญครบถ้วนก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย






โดยมีเอกสารหรือหนังสือรับรองสถานพยาบาลในประเทศไทยที่ยืนยันการรับผู้เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลและการจัดสถานที่กักกันในสถานพยาบาลเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ขอให้มั่นใจมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ที่เข้มงวดของประเทศไทย แม้จะมีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาล แต่เป็นการบริหารจัดการในโรงพยาบาลที่ได้การรับรองมาตรฐานแล้ว จึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422



โควิด-19 เป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลไปทั่วโลกทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ในประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศถึง 6 สัปดาห์แล้ว แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกลับคลี่คลายได้ยาก ขณะที่ความกังวลต่อการระบาดซ้ำของประชาชนยังมีอยู่ ทางสวนดุสิตโพลได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ในช่วงวันที่ 1- 4 ก.ค. 63 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,109 ราย พบว่า ความวิตกกังวลของประชาชนกับสถานการณ์โควิด-19 ณ มีความกังวลลดลง 52.93% ที่ยังกังวลเหมือนเดิม 29.94%






ส่วนสิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟู พบว่า 77.55% ให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเข้มงวด อีก 71.78% ให้มีมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สร้างงานสร้างอาชีพ 69.43% ช่วยเหลือคนตกงาน 65.64% ส่งเสริมการท่องเที่ยว 57.26%


โดยภาพรวม ความรู้สึกกังวลยังแฝงอยู่ในจิตใจ อาจเพราะการติดเชื้อทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด และการระบาดรอบสองก็มีอีกหลายประเทศ


แม้รับรู้ถึงปัญหาเศรษฐกิจ แต่ก็ห่วงว่า การหารายได้ จะกลายเป็นช่องทางให้โควิดกลับมา ยากอยู่นะ