"หมอเอกภพ" ซัดจัดงบไร้วิสัยทัศน์ ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศ

2020-07-02 04:00:15

"หมอเอกภพ" ซัดจัดงบไร้วิสัยทัศน์ ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศ

Advertisement

"หมอเอกภพ" ซัดจัดงบประมาณไร้วิสัยทัศน์ แบบรัฐราชการรวมศูนย์ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ 

เมื่อวันที่1 ก.ค. ที่รัฐสภา นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย เขต 1  พรรคก้าวไกล อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่า  การจัดทำงบประมาณครั้งนี้มีเดิมพันคือชีวิตของประชาชนคนทั้งประเทศ ในส่วนของงบประมาณด้านสาธารณสุข เมื่อรวบรวมจากหน่วยงานทั้งหมดแล้วคิดเป็นงบประมาณทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท หรือ 11 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นวงเงินที่สูงพอใช้ได้ ถ้าใช้อย่างมีประสิทธิภาพและมีจุดหมายจะช่วยดูแลสุขภาพประชาชน และเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจอีกอย่างของประเทศได้ แต่เมื่อลองดูภาพรวมที่จัดทำมากลับพบว่าทำแบบเดิมๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราเห็นแค่ความเปลี่ยนแปลงเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นนิดหน่อยแบบเป็นเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมๆ ไม่มีการนำบริบทใหม่ๆ ทางสังคม ปัญหาใหม่ๆ ทางสังคมมาคิด ในยุคที่โจทย์ท้าทาย คือ ยุคหลังโคโรนาไวรัส ขณะเดียวกันโจทย์เก่าที่เคยอภิปรายครั้งที่แล้วเรื่องการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม ยังมีความเหลื่อมล้ำในแต่ละภูมิภาค ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

นพ.เอกภพ กล่าวว่า มีข้อสังเกตการจัดทำงบประมาณครั้งนี้ เรื่องแรกคือ การตั้งงบประมาณไว้ไม่เพียงพอ ประเทศไทยมีประชากรที่ส่วนใหญ่ใช้สิทธิการรักษาที่รัฐจัดให้ หลักๆ คือ บัตรทอง ในส่วนของสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. 48 ล้านคน, สำนักงานประกันสังคม 12 ล้านคน และข้าราชการ 5 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป เนื่องจากเป็นยุคหลังโควิด ซึ่งตัวเลขล่าสุดของบอกว่า แรงงานตามสิทธิประกันสังคมตาม ม.33 ในเดือน พ.ค.นั้นหายไปกว่า 3 แสนคน นี่คือคนที่หายไปจากระบบประกันสังคมทันที ซึ่งถ้าคนเหล่านี้จะต้องใช้สิทธิรักษาพยาบาลก็ต้องย้ายไปใช้บัตรทอง แต่งบบัตรทองปี 2564 นั้นกันไว้ที่ 3,853 บาทต่อคน แสดงว่า ณ ตอนนี้ต้องใช้งบเพิ่มขึ้น 1,300 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าคนจะตกงาน 3-7 ล้านคน เพราะฉะนั้น สปสช. จะต้องรับผิดชอบคนเพิ่มมากขึ้น คือถ้าคิดแค่อย่างน้อยที่สุดคือ 3 ล้านคน  สปสช. ต้องใช้งบประมาณเพิ่มจากที่ตั้งไว้ในปี 2564 มากถึง 11,559 ล้านบาท ถามว่าจะเอาเงินจากไหน งบกลางที่ตั้งไว้เพียงพอหรือไม่ และถ้าใช้ตรงนี้หมด หากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็ไม่มีเงิน ต้องกู้มาอีก ซึ่งนี่คือปัญหา

"ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่า สปสช. ต้องดูแลคนมากขึ้นจากการเปลี่ยนจากประกันสังคมมาใช้บัตรทอง แต่เมื่อดูสิ่งที่จัดทำมา ปรากฏว่า สปสช. เขียนเป้าหมายผู้มีสิทธิใช้บัตรทองปี 2564 เมื่อเทียบกับ 2563  ตั้งเป้าไว้ว่าลดลง 6 แสนคน อย่างนี้แสดงว่าเราไม่ได้เตรียมการรับมือคนที่จะต้องไปใช้บัตรทองที่จะมากขึ้นเลย  เพราะแค่วันนี้ 3 แสนคนที่ตกงานหันไปใช้บัตรทอง ต้องใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท อาจมีพอในงบกลาง แต่ถ้ามากกว่านั้นไม่พอ นี่คือตัวอย่าง นี่คือข้อมูล นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ไม่ได้อยู่บนหลักฐานข้อมูล บริบททางสังคม สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อต้องรับผิดชอบคนมากขึ้น สปสช. ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ตั้งไว้ สปสช. ได้เงินเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น" นพ.เอกภพ กล่าว

นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตที่  2 การใช้บัตรทองที่ผ่านมาไม่ตรงกับหลักการ ทั้งนี้ เมื่องบประมาณที่ได้รับอนุมัติ  สปสช.จะยังไม่ได้เงิน แต่จะโดนกันส่วนหนึ่งหักไว้เป็นเงินเดือนข้าราชการสังกัด สธ. ซึ่งไม่รวมเงินเดือนลูกจ้างที่ไปเบียดบังเอาจากงบรายหัวที่ลงไป ที่เหลือกันไว้ที่ส่วนกลางให้ สธ.รับผิดชอบดูแลข้าราชการทั่วประเทศ  ซึ่งทำแบบนี้ ไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องการการจายตัวบุคคลากรทางการแพทย์ได้เลย ยิ่งทำให้เงินกองอยู่ตรงกลาง ก็จะเป็นแบบเดิม บุคคลกรไม่กระจายไปต่างจังหวัด มิหนำซ้ำ เมื่อเงินที่ส่งมาให้ สปสช. แล้ว เงินจะยังไม่ส่งถึงโรงพยาบาลและประชาชน แต่จะถูกหักเป็นกองทุนย่อยๆ ซึ่งจากปี 2563 งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอยู่ที่ 3,600 บาทต่อคน เป็นงบประมาณที่ส่งถึงโรงพยาบาลโดยตรงเพียงแค่ 1,252 บาทเท่านั้น และยังมีส่วนที่หักไว้ให้โรงพยาบาลมาเบิกเอาทีหลัง ไม่ได้ไปทั้งก้อน จะเห็นว่ามีเงินไม่ถึงครึ่ง 1 ใน 3 ของเงินที่โรงพยาบาลพึงจะได้เพื่อเอาไปรักษาคนในพื้นที่ ส่วนอื่นถ้าโรงพยาบาลรักษาคนไข้แล้วถึงนำมากเบิก แสดงว่า โรงพยาบาลไหนมีคนไข้มารักษาเยอะถึงจะเบิกได้ โรงพยาบาลไหนรักษาไม่ได้ ยกตัวอย่าง กองทุนแพทย์แผนไทย ถ้าโรงพยาบาลหนึ่งไม่มีคนในพื้นที่ต้องการรักษาแพทย์แผนไทย ก็จะเสียโอกาสนี้ไป  นี่คือการทำผิดหลักการบัตรทองที่ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขแล้วให้เหมาจ่ายรายหัวไปหรือไม่

"นอกจากนี้ ในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องบัตรทอง ในการออกแบบเบื้องต้นมีการแบ่งเป็นผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้ซื้อบริการคือ สปสช. และระบบการดูแลของรัฐ ตรงนี้แบ่งเพื่อให้มีการตรวจสอบคานอำนาจซึ่งกันและกัน แต่ปัจจุบัน ถ้าโรงพยาบาลอยากได้เงินก็ต้องทำตามที่ สปสช. ต้องการเพื่อเบิกเงิน ถ้าโรงพยาบาลอยากได้เงินได้งบลงทุน ก็ต้องทำตามสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องการ ซึ่งคำถามคือ แล้วประชาชนอยู่ตรงไหน นี่คือเระบบที่ไม่ได้สร้างไว้รับฟังเสียงประชาชน นี่คือปัญหากระทำผิดหลักการ ไม่ได้ทำเหมาจ่ายรายหัวที่แท้จริง และรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง" นพ.เอกภพ กล่าว

นพ.เอกภพ กล่าวอีกว่า ข้อสังเกตสุดท้าย การจัดทำงบประมาณปี 2564 ไร้วิสัยทัศน์ ซึ่งก็เท่ากับการไร้วิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ เพราะแน่นอนว่า โลกหลังโควิดเป็นโลกที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป มีการเสียโอกาสในธุรกิจเก่าๆ แต่ก็มีโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ เช่นกัน เป็นโอกาสของประเทศ ดังที่ นายกรัฐมนตรีบอกว่า เรามีโอกาสที่จะเป็นผู้นำทางการแพทย์สาธารณสุขของโลกได้ แต่เมื่อไปดูกลับพบว่าไม่ได้เตรียมไว้ กรมบัญชีกลางก็ดูแลในส่วนข้าราชการของตัวเอง สำนักงานประกันสังคมก็ดูในส่วนผู้ประกันตน สปสช. ก็ดูแลแต่คนไข้บัตรทอง แล้วการสร้างโอกาสในการรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นใครจะเป็นคนออกเงิน กระทรวงสาธารณสุขหรือ ซึ่งก็จะดูแลแต่งบลงทุนที่อย่างไรก็ไม่ทั่วถึง ดูแลบุคคลการที่ทำอย่างไรก็ไม่ทั่วถึง และในรายงานนี้ก็ไม่มีการพูดถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดแพทย์แบบมีกลยุทธ์ จะพูดไว้ก็เล็กๆ น้อยๆ เช่น สร้างตลาดสมุนไพร สร้างตลาดการนวด ซึ่งไม่สามารถดึงคนไข้ต่างประเทศได้

"คนต่างประเทศที่ใช้บริการการแพทย์ในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ ใช้เงิน 65,000 บาท ต่อคนต่อทริป ทั้งที่มีกฎหมายเป็นข้อจำกัดล็อกไว้มากมาย ถ้าเปิดกว่านี้ อยากให้ลองคิดกันดูว่าเราจะมีโอกาสทางธุรกิจขนาดไหน  อย่างที่ผ่านมา คนไข้ทางยุโรปที่อยู่เมืองหนาวจะไปหลบหนาวที่ประเทศ อิตาลี สเปน ซึ่งเป็นการอยู่ระยะยาว แต่ 2 ประเทศประสบไวรัสโคโรนารุนแรงและยังไม่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น หน้าหนาวนี้โอกาสดีที่รับคนกลุ่มนี้รักษาในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ สามารถเกิดขึ้นได้  แต่เสียดายงบประมาณที่ทำไว้ ไม่ว่าจะงบเงินกู้ หรืองบรายจ่ายปี 64 ไม่ได้เตรียมการสำหรับการรับตลาดที่จะเกิดขึ้น" นพ. เอกภพ กล่าว 

นพ.เอกภพ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่พูดมา เป็นเพียงตัวอย่างหลายปัญหาที่ยังซ่อนอยู่ เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การจัดทำงบประมาณแบบเดิมๆ แบบรัฐราชการรวมศูนย์ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศเราได้ ตนจึงไม่สามารถรับหลักการของการจัดทำงบประมาณฉบับนี้ได้ ขอให้เอากลับไปทำใหม่ ตนไม่ให้ผ่าน