จับตาต่างด้าวลอบข้ามแดน หลบตรวจโรคเดือนเดียว2,500

2020-06-29 21:35:15

จับตาต่างด้าวลอบข้ามแดน   หลบตรวจโรคเดือนเดียว2,500

Advertisement



วันที่ 29 มิ.ย.63 ความสนใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่การพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ป้องกันโรค ระยะที่ 5 ซึ่งกิจการ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมากระดับสีแดง จะเปิดได้หรือไม่ ในวันที่ 1 ก.ค.63 ข้อสรุปในชั้นต้น คือได้ตามข้อเสนอ โดยมีรายละเอียดการควบคุมถี่ยิบ ที่ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


แต่รายงานการติดเชื้อรายวันต้องมาก่อน วันนี้ พบใหม่ 7 ราย เป็นคนไทยที่กลับจากต่างประเทศ เข้าอยู่สถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้ จากอินเดีย 6 ราย สหรัฐอเมริกา 1 ราย ไม่มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม ไม่มีผู้เสียชีวิต ผู้รักษาหายกลับบ้านสะสม 3,053 ราย ที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล 58 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,169 ราย


ไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 35 หรือ 5 สัปดาห์แล้ว





ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในขณะนี้ เป็นคนไทยจากต่างประเทศที่ต้องเข้าสู่พื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐจัดให้เป็นเวลา14 วัน หากป่วยจะนำเข้ารักษาทันที มีผู้ที่เข้ากักตัว เฝ้าระวังอาการในสถานที่รัฐจัดให้ สะสม 48,332 ราย พบผู้ติดเชื้อ 232 ราย


การตรวจหาเชื้อเชิงรุกจนถึงวันที่ 26 มิ.ย.63 รวม 603,657 ราย





การควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยการตรวจคัดกรองคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ และกักตัวไว้เฝ้าระวังโรค 14 วัน ทำให้เห็นผลดีจนไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประแทศ แต่กลับมีรายงานว่าตามแนวพื้นที่ชายแดนทางบกมีการลักลอบเข้าเมือง ที่ไม่ผ่านการคัดกรอง กรณีนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผอ. ศบค. ได้สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงติดตามตรวจสอบ พบผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายในพื้นที่ขอบชายแดนรอบประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.63 จนถึงวันนี้ มีผู้กระทำผิด 2,498 ราย จากประเทศ เมียนมา 1,276 ราย ลาว 142 ราย กัมพูชา 1,016 ราย เวียดนาม 4 ราย จีน 6 ราย อินเดีย 27 ราย และอื่น ๆ อีก 27 ราย ทั้งยังพบคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่ตอนในอีกด้วย




คุณหมอโฆษก ได้กล่าวขอความร่วมมือประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้ที่จะเดินทางข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากพื้นที่ชายแดน ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคเท่าในท่าอากาศยาน จึงไม่สามารถวางใจได้


เห็นต่างด้าวท่าทางจะเข้าเมืองผิดกฎหมาย แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ไว เพราะอาจเอาเชื้อมาแจกจ่ายได้





ส่วนการผ่อนคลายระยะ 5 ที่คนบ้างกลุ่มซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการ หรือไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายใช้บริการ ห่วงว่าจะพาโควิดกระพือรอบสองหรือไม่นั้น ทาง ศบค.ออกแบบมาตรการป้องกันไว้พอสมควร โดยการผ่อนคลายระยะที่ 5 มี 5 กลุ่มกิจกรรมที่จะได้ไปต่อ ซึ่งมีมาตรการกำกับดังนี้


1. การใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ให้เปิดได้ โดยได้รับอนุญาตจากต้นสังกัด ต้องลงทะเบียน ยืนยันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกคู่มือเกณฑ์การปฏิบัติ แล้วให้หน่วยงานต้นสังกัด/หน่วยงานที่รับผิดชอบ ประเมินความพร้อมของโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ก่อนเปิดการศึกษา ดำเนินการ อีกชั้นหนึ่ง


2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ให้เปิด-ปิด การดำเนินกิจการได้ตามความเหมาะสม โดยศบค.มีความเห็นว่าศูนย์การค้าควรปิดเวลา 22.00 น. ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ 24 ชั่วโมง


3. สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ เช่น โรงเบียร์ โรงเหล้า ลานเบียร์ Pub & Restaurant ให้เปิดได้ถึง 24.00 น. ทุกกรณี ให้มีระยะนั่ง/ยืน 1 ม. จำกัดผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม. ต่อคน ห้ามร่วมโต๊ะกับกลุ่มอื่น ระยะห่างโต๊ะไม่ต่ำกว่า 2 ม. หรือมีฉากกั้นสูงไม่ต่ำกว่า 1.5 ม. มีระบบระบายอากาศ และระบบหมุนเวียนอากาศที่ดี มีพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะส่วนบุคคล รวมถึงให้ทุกคนลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และพิจารณากำหนดบทลงโทษ กรณีพบสถานประกอบการไม่ปฏิบัติตามแล้วเกิดการติดเชื้อ!





4. ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี เล่นได้วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 14.00 - 20.00 น. และวันหยุด เวลา 10.00 น. - 20.00 น. อายุ 15-18 ปี ใช้บริการได้วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 - 22.00 น. และวันหยุด 10.00 - 22.00 น. และอายุ มากกว่า 18 ปี เล่นได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ เกณฑ์ ไม่ต่ำกว่า 4 ตร.ม.ต่อคน เว้นระยะห่าง นั่งยืน ทางเดิน ไม่ต่ำกว่า 1 ม.จำกัดเวลาให้บริการในระบบ 2 ชม. ต่อรอบ พักทำความสะอาด 15 นาที



5. สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด โรงน้ำชา ต้องมีใบอนุญาตถูกกฎหมาย ทุกคนจะต้องลงทะเบียนเข้า-ออกด้วยแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” หรือจดบันทึกรายงานแทน สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย Face Shield ตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ ให้ทำความสะอาดห้อง อ่างอาบน้ำ ห้องสุขา พื้นผิวสัมผัสร่วมบ่อยๆ ก่อน-หลังบริการแต่ละครั้ง ให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมทั้งเฝ้าระวังโรคอื่นด้วย และให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ส่วนรวมของร้าน 



ก่อนจะเปิดกิจการเหล่านี้ ต้อง 1.ให้ลงทะเบียนแอปพลิเคชันไทยชนะ เพื่อวางแผนการกำกับ ติดตามของหน่วยงานรัฐ 2.เพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการตรวจประเมิน 3. คัดกรองไข้ อาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือเป็นหวัด สำหรับพนักงานบริการ และผู้ใช้บริการ 4. พิจารณาพัฒนานวัตกรรม เช่น ลงทะเบียนเข้า-ออกสถานที่ ระบบการเรียนการสอน การจองคิวแบบออนไลน์ เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาว นำไปสู่การป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ 5. รายงานผลการตรวจประเมิน ติดตาม กำกับ ตามมาตรการควบคุมหลัก ให้ศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานให้ ศบค. ทราบ 



เงื่อนไขมากมาย 





ช่วงเปลี่ยนผ่าน สถานบริการ บันเทิงบางพื้นที่ยังลังเลว่าควรเปิดกิจการหรือไม่ เพราะกฎเกณฑ์ทั้งหลายขัดกับการไปเที่ยวแหล่งบันเทิง จะให้นั่งห่างๆ สรวลเสเฮฮาไม่ได้ ก็คงไม่มีใครอยากไป ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบจะมีภาระมากขึ้น เช่นต้องเพิ่มพนักงาน แต่เชื่อว่า นานไปก็จะปรับตัวได้