“ช่อ“ชี้ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายจะยื่นสภาฯ 8 ก.ค.

2020-06-28 07:58:53

“ช่อ“ชี้ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายจะยื่นสภาฯ 8 ก.ค.

Advertisement

“ช่อ“ชี้ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายจะถูกยื่นต่อสภาฯ 8 ก.ค.นี้  ระบุฉบับของ กมธ.กฎหมายคุ้มครองประชาชนได้จริง

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ได้ไปร่วมงานเปิดศูนย์คณะก้าวหน้าชายแดนใต้ ที่ จ.ยะลา พร้อมกันนี้ได้ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความยุติธรรมที่เปลี่ยนไม่ผ่านท่ามกลางผู้คนและหมุดที่สูญหาย”

น.ส.พรรณิการ์ ในฐานะตัวแทนคณะก้าวหน้า และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน  กล่าวว่า เรื่องการอุ้มหายซ้อมทรมานเป็นปัญหาใหญ่ เป็นทั้งปัญหาการเมืองของสังคมไทย และเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ซึ่งแม้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 แล้วแต่ก็ไม่มีใครสามารถพูดได้ว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะประเทศไทยยังมีการปกครองโดยความกลัวอยู่ สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายแทนที่ใช้ปกป้องประชาชน กลับใช้ในการคุกคามประชาชน และรูปธรรมที่สอง คือการบังคับสูญหาย ทำให้หลายๆครั้งประชาชนจำเป็นต้องเงียบ มีการเซนเซอร์ตัวเองของประชาชนเพราะกลัวความไม่ปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว ซึ่งการไม่ใช่แค่ให้คนที่ถูกอุ้มเงียบ แต่ต้องการให้สังคมเงียบ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาคนหนึ่งถูกอุ้มหาย ทุกคนเงียบเพราะต่างไม่รู้ว่าเมื่อใดจะกลายเป็นเรา เป็นคนในครอบครัวเรา จำเป็นต้องเงียบเพื่อรักษาชีวิต ทำให้เห็นว่าการปกครองด้วยความกลัว ส่งผลว่าประชาชนยังไม่ใช่ผู้ทรงอำนาจที่แท้จริงของประเทศนี้ คนที่ทำให้กลัวคือคนที่มีอำนาจ

“ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายจำเป็นต้องถูกแก้ไข เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 และ กฎหมายอุ้มหาย หรือ”กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกฎหมายป้องกันอุ้มหายและซ้อมทรมาน ภาคประชาชนต่อสู้กันมายาวนาน เคยผ่านสภานิติบัญญัติหรือสภาตรายางของ คสช.มาแล้วแต่กฎหมายได้ตกไป และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นมองเห็นความสำคัญต่อร่างกฎหมายฉบับนี้จึงพยายามมองหาวิธีการ ซึ่งไม่ใช่แค่ผ่านกฎหมายได้เท่านั้น แต่กฎหมายจะต้องคุ้มครองประชาชนได้จริง จึงผลักดันผ่านกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนที่มี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เพราะการผลักดันผ่านคณะกรรมาธิการจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ และพรรคการเมืองอื่นๆ มากกว่าทำผ่านพรรคการเมืองเดี่ยวๆ เพราะมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆเข้ามาร่วมนั่งในคณะกรรมาธิการด้วย ซึ่งการผลักดันกฎหมายในกรรมาธิการก็ได้รับความร่วมมือจากทุกพรรคเป็นอย่างดี ถือเป็นผลงานร่วมกันของพรรคการเมือง แม้ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเสนอผลักดันหยุดชะงักไป แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่ต้นร่างมาจากภาคประชาสังคม และได้ถูกปรับปรุงโดยคณะกรรมาธิการจนเสร็จเมื่อ 2 วันก่อน และจะยื่นสู่สภาฯในวันที่ 8 ก.ค.นี้” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า  แต่สิ่งที่น่ากังวัลคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) อาจเข้ามาร่วมโหวตด้วยหากมองว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะไม่สามารถผ่านมติได้หรือหากผ่านอาจถูกแปรญัติ เปลี่ยนแปลง ตัดหลักการสำคัญจนไม่สามารถปกป้อง คุ้มครองประชาชนได้จริง ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานจะส่งเข้าสู่สภาฯถึง 4 ร่าง คือร่างจากกระทรวงยุติธรรม ร่างจากคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ และร่างจากพรรคการเมืองอื่น ๆอีก 2 พรรค แต่ฉบับของคณะกรรมาธิการฯนี้นับว่าจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะ คุ้มครอง และจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความ สามารถสืบหาจนกว่าจะได้มาซึ่งความยุติธรรม และจะใช้ระบบไต่สวน ที่จะทำให้ศาลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียกหาเอกสารหลักฐานได้เอง อีกทั้งยังกำหนดให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญ ในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน สามารถทำหน้าที่ไปตรวจสอบหน่วยงานภาครัฐให้ปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดยคณะกรรมการจะมาจากตัวแทนภาคประชาชน 6 คน มาจากข้าราชการ 5 คน จะทำให้คณะกรรมการนี้มีเสียงของภาคประชาชนมากกว่าข้าราชการ จะส่งผลให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีความเป็นมนุษย์และสามารถเข้าใจผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง” พรรณิการ์กล่าว