หมอให้วางใจทราเวลบับเบิล เน้นทำสวยป่วยโควิดไม่เอา

2020-06-26 22:05:51

หมอให้วางใจทราเวลบับเบิล   เน้นทำสวยป่วยโควิดไม่เอา

Advertisement



จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ รายงานวันที่ 26 มิ.ย.63 เพิ่มขึ้น 4 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้าพักในสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State quarantine) ยอดสะสมเป็น 3,162 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รักษาหายกลับบ้านอีก 2 ราย รวมคนที่หายแล้ว 3,040 ราย (96.14%ของผู้ทั้งหมด)


ไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ เป็น 0 ติดต่อกันเป็นวันที่ 32


ผู้ติดเชื้อที่พบวันนี้ 2 รายแรก เป็นหญิงไทยอายุ 22 และ 27 ปี กลับจากประเทศซูดาน ถึงไทยวันที่ 24 มิ.ย.63 ตรวจพบเชื้อในวันเดียวกัน รายแรกมีไข้ อีกรายจมูกไม่ได้กลิ่น ไอ เจ็บคอ อีก 2 ราย มาจาก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหญิงไทย อายุ 32 และ 53 ปี อาชีพพนักงานนวด มาถึงไทยวันที่ 13 มิ.ย.63ตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ วันที่ 24 มิ.ย.63






รายงานการติดเชื้อในรอบเดือน มีแต่กลุ่มที่กลับจากต่างประเทศ ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19(ศบค.) แจ้งว่า ผู้เดินทางกลับที่เข้า State quarantine ทั้งหมด 46,569 ราย แต่พบผู้ติดเชื้อ 225 ราย คิดเป็น 0.48% เป็นชายมากกว่าหญิง อายุเฉลี่ย 39 ปี เป็นคนไทย 99.1% ชาวอเมริกันและอังกฤษ 0.45% ซึ่งเป็นความเข้มแข็งของมาตรการดูแลกักโรคที่ทำให้คัดกรองผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี




ทั้ง ๆ ที่ การติดเชื้อจากภายในประเทศเป็น 0 นานกว่า 1 เดือน แต่รายงานข่าวจากต่างประเทศ และความเห็นจากแพทย์หลายท่าน ทำให้รู้สึกว่า การระบาดรอบสองมีโอกาสเกิดได้ จึงย้ำทุกวันอย่าการ์ดตก ต้องมีระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน



ขณะเดียวกัน ก็ต้องการประโยชน์จากต่างชาติ จึงมีแนวทาง Travel Bubble หรือการเปิดการท่องเที่ยวแบบจับคู่เดินทางกับประเทศที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ และการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติที่ยินยอมเข้าสถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในกลุ่มนักธุรกิจ แรงงานฝีมือ บุคลากรทางการศึกษา และกลุ่มนักท่องเที่ยวประเภทสุขภาพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นที่สงสัย ไม่เห็นด้วยเกรงจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะการกักตัว 14 วันเพียงพอหรือไม่ ควรจะเพิ่มเวลาอีกไหม กรณีนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.การหารือ เพื่อให้มีการเดินทางของกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศ ระยะสั้น อาจรวมถึงคณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ประเทศ เช่น จากประเทศจีน จะจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องเข้า State Quarantine แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการคุมไว้สังเกต ต้องมีทีมแพทย์คอยติดตาม มีแผนการทำงานเพื่อให้ตรวจสอบได้ และต้องผ่านระบบการตรวจคัดกรองโรคทั้งก่อนเข้ามาและก่อนออกจากประเทศ


ส่วนการจะให้เพิ่มเวลาการกักตัวใน State Quarantine นั้น ส่วนใหญ่จะพบผู้ติดเชื้อในช่วงกักตัว 7 วัน การกักตัวระยะ 14 วัน จึงเหมาะสมตามทฤษฎีการฟักตัวของเชื้อโรค ทั้งย้ำว่า ยังไม่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแบบเสรีเด็ดขาด จะมีเฉพาะนักธุรกิจ นักลงทุน แรงงานฝีมือ และคนต่างด้าวที่มีครอบครัวในประเทศไทย หรือกรณี Travel Bubble ก็ยังไม่มีความชัดเจน ต้องใช้เวลาศึกษาและคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ สำหรับแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสุขภาพทางการแพทย์ หรือ Wellness and Medical Tourism นั้น เป็นการเปิดให้บริการทางการแพทย์ด้านอื่น ๆ เช่น การทำศัลยกรรมเสริมความงาม การรักษาอาการมีบุตรยาก ไม่ใช่เป็นการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด





ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า วันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.63 จะมีการหารือเรื่อง (1)การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 (2)การอนุญาตให้บุคคลเดินทางมาจากต่างประเทศ (3) การขยายเวลาการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน (4) มาตรการรองรับการเปิดการศึกษา กรณีเด็กชายแดน (5) การขอยกเว้นการปฏิบัติตามข้อกำหนดการเว้นที่นั่ง เว้นระยะห่าง 1 เมตร ในขบวนรถโดยสารสาธารณะ



หัวข้อการประชุม ศบค.วันจันทร์นี้ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ ทุกหัวข้อเกี่ยวข้องกับนิวนอร์มอลของคนไทยยุคโควิดทั้งสิ้น เพราะผลการประชุมทุกเรื่องที่ต้องปฏิบัติมักขัดกับวิถีปกติของผู้คน


เรื่องที่กำหนดไปแล้วทำไม่ได้ ก็ต้องแก้ไข เช่น การให้เว้นที่นั่งบนรถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า การยืนต้องห่างกัน 1 เมตร ซึ่งปฏิบัติได้ยาก จึงมีข้อเสนอให้ผ่อนปรน


กฎกติกาที่กำหนดแล้วปฏิบัติไม่ได้ ฝ่ายออกกฎต้องยอมรับ ปรับใหม่ให้เหมาะสมโดยไม่ชักช้า นิวนอร์มอลก็อย่างนี้