มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภคระดับประเทศ "รวมพลังผู้บริโภค สู้ภัยกลโกงออนไลน์" แฉมีผู้เสียหายจากการซื้อที่นอนยางพารากว่า 5,000 คน ค่าเสียหายกว่า 1.6 ล้านบาท จี้รัฐต้องให้ผู้ขาย ผู้ซื้อแสดงตัวตนให้ชัดเจน
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส้รางเสริมสุขภาพ จัดเวทีสภาผู้บริโภคระดับประเทศ ภายใต้หัวข้อ “รวมพลังผู้บริโภค สู้ภัยกลโกงออนไลน์” เพื่อเป็นพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ให้มีการแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่อการกำหนดนโยบายเพื่อจัดการปัญหาหลอกลวง หรือ การเอาเปรียบในการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งท้าทายที่ควรจะแก้ปัญหา คือ การทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละสถานีตำรวจเชื่อมคดีกันได้เมื่อเกิดการรวมกลุ่มของผู้เสียหาย ตลอดจนการทำให้เกิดแนวทางการกำกับคนในการขึ้นทะเบียนคนขายออนไลน์และต้องตรวจสอบได้ รวมถึงการทำให้เกิดระบบรับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์และจัดการปัญหาการดังกล่าวที่รวดเร็วขึ้น
“ในฐานะองค์กรผู้บริโภคเห็นว่า ควรมีกลไกความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคระดับอาเซียน โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนควรเป็นหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแล เพื่อสร้างความร่วมมือการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าที่ขายในออนไลน์ การกำหนดคุณภาพของสินค้าตั้งแต่จุดเริ่มต้น การคืนเงินจากสินค้าไม่มีคุณภาพเต็มจำนวน การตั้งราคาให้สมเหตุสมผลกับสินค้า และการผลักดันกฎหมายความรับผิดตอความชํารุดบกพรองของสินคา (Lemon Law) ที่ครอบคลุมไปยังสินค้าต่าง ๆ ด้วย” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันโลกของการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นเรื่องที่ผูกพันกับบุคคลและหน่วยงานทุกภาคส่วน ไม่ใช่เกี่ยวเนื่องเพียงแค่คนขายและคนซื้อ ดังนั้น การกำกับดูแลและร่วมกันกำหนดรูปแบบเพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันกลโกงออนไลน์จึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนทันที โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำข้อมูลที่เป็นระบบ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและตรวจสอบค้นหาข้อมูลได้ง่าย รัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มผู้บริโภคในการให้ความรู้ รวมถึงยกระดับการเฝ้าระวัง อีกทั้งทุกภาคส่วนควรต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทบาทการทำงานร่วมกัน และสำหรับบทบาทหน่วยงานรัฐต้องมีการอำนวยความสะดวกในที่เดียวด้วย เช่น ระบบรายงานผลการจัดการปัญหา การให้เครดิตร้านค้าโดยผู้ซื้อหรือผู้บริโภค เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
นายเศรษฐภูมิ บัวทอง หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราบนร้านค้าในเฟซบุ๊ก กล่าวถึงปัญหาการโฆษณาเกินจริงว่า ในโครงข่ายออนไลน์ที่ไม่มีการกำกับดูแลนี้ ทำให้ผู้ขายมีโหว่ในการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อได้ รวมถึงขั้นตอนการร้องเรียนของสถานีตำรวจที่ล่าช้า ส่งผลให้กระบวนการแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคล่าช้า
ตามไปด้วย
ตอนนี้มีคนเสียหายจากการซื้อที่นอนยางพาราในหลาย ๆ เพจ บนเฟซบุ๊กแล้วกว่า 5,000 คน ค่าเสียหายรวมกว่า 1.6 ล้านบาท ตอนนั้นเราคิดว่าที่ผ่านมาก็ระวังตัวอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังหลงเชื่อคำโฆษณาโอนเงินซื้อสินค้าไป แม้จะเสียเงินไม่มาก แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดกับคนอื่นอีก ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรออกกติกาให้แพลตฟอร์มนั้น ๆ มีการแสดงตัวตนของผู้ขาย ผู้ซื้อ ให้ชัดเจน ตลอดจนกำหนดช่องทางการชำระเงินที่เชื่อถือได้ และควรมีระบบหรือข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำความผิดและขึ้นแบล็กลิสต์ผู้ขายที่ทำผิดออกจากระบบโดยทันที
น.ส.จุฑา สังขชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักเป็นกรณีที่มีค่าเสียหายที่ไม่สูงมาก ทำให้หลายคนไม่อยากเรียกร้องสิทธิ ดังนั้น ต้องสนับสนุนความเข้มแข็งให้ผู้บริโภครู้เท่าทันและตระหนักถึงสิทธิที่ถูกละเมิดเพื่อเป็นพลังในการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่หน่วยงานรัฐต้องร่วมสนับสนุน นอกจากนี้การรวมกลุ่มของผู้บริโภคเพื่อให้มีสภาองค์กรผู้บริโภคก็ยังเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งในทุกประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์