เฟส5พ่วง พรก.ฉุกเฉิน รับกลุ่มเสี่ยงสีแดง-เปิดเทอม

2020-06-25 22:35:46

เฟส5พ่วง พรก.ฉุกเฉิน   รับกลุ่มเสี่ยงสีแดง-เปิดเทอม

Advertisement



รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 25มิ.ย.63 ยังรักษาบรรยากาศดี ๆ มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทยวัย 20 ปี จากประเทศอียิปต์ถึงไทย เข้าสู่สถานที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 มาตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการในวันที่ 23 มิ.ย.63 ผู้ป่วยรายนี้ เดินทางเที่ยวบินเดียวกับผู้ติดเชื้อ 2 รายที่พบเชื้อในวันที่ 23 มิ.ย.63


ไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศ ติดต่อกันเป็นวันที่ 31 และเป็นวันที่ผู้ป่วยกลับบ้านอีก 12 ราย ยอดผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,038 ราย (96.2%ของผู้ป่วยทั้งหมด) ที่ยังรักษาในโรงพยาบาล 62 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม จำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,158 ราย





แม้ข้อมูลจะเป็นที่น่าพอใจติดต่อกันเป็นเดือน แต่ พ.ญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ยังย้ำว่า คนไทยต้องร่วมมือทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัยหน้ากากผ้า ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่น 1-2 เมตร อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า บทเรียนในต่างประเทศที่พบการระบาดของเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติขาดการป้องกันตัวเอง ดังนั้นจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเช่นเดียวกับต่างประเทศ





คุณหมอคงไม่ได้กล่าวเกินเลย เพราะรายงานสถานการณ์โลกวันเดียวกัน มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 173,384 ราย ยอดสะสม 9,527,123 เสียชีวิตรวม 484,972 ราย และนายทีดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผอ.ใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ผู้ติดชื้อโควิด-19 ทั่วโลกน่าจะทะลุ10 ล้านคนภายในสัปดาห์หน้า ขณะนี้หลายประเทศมีปัญหาขาดแคลนออกซิเจนสำหรับผู้ป่วย เพราะผู้ติดเชื้อที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยต่อเนื่อง จนความต้องการใช้มีมากกว่าความสามารถในการจัดการและการผลิต

ประชาชน ซึ่งอาจเป็นคนนอกวงกิจกรรม กิจการบางประเภท โดยเฉพาะกลุ่มสีแดง ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบ อบ นวด ก็คงรู้สึกทำนองเดียวกัน คือไม่ค่อยวางใจ ที่สถานบริการเหล่านี้จะเปิด แม้จะมีมาตรการกำกับ มีเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องลงทะเบียนรับรองตัวตนและการปฏิบัติในแอปพลิเคชัน คอยตรวจประเมินก็ตาม





ความห่วงกังวลนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) ก็คงเห็นสอดคล้องกัน เพราะเป็นหน่วยที่ดำเนินกรรมวิธี กำหนดมาตรการเพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคจนได้ผล แต่การจัดการก็ต้องมีอำนาจตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่ออำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย.63 และมีการหารือกันก่อนหน้านี้ว่า ควรจะต้องต่ออายุออกไปอีกหรือไม่

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก วันที่ 25 มิ.ย.63 เห็นควรเสนอต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือนในเดือน ก.ค.นี้ เพราะจะมีการผ่อนปรนธุรกิจ กิจการ กิจกรรม ระยะที่ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมาก หรือสีแดง กลุ่มผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด และการเปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ เดินทางมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงสูง หากไม่มี พ.ร.ก. จะต้องใช้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรการป้องกันโรคเชิงรุก โดยจะเสนอที่ประชุม ศบค.วันจันทร์ที่ 29 มิ.ย.63 และนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย.63


ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินดังกล่าว สามารถออกข้อกำหนด ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ห้ามการชุมนุม มั่วสุม ห้ามการเสนอข่าว ข้อความอันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้ เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ ห้ามการใช้หรือเข้าไปในอาคารสถานที่ใด ๆ หรือให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยได้


อย่างไรก็ตาม นอกจากการผ่อนคลายให้กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปได้ พร้อมกับการกำหนดมาตรเพื่อป้องกันโรคกลับมาระบาดซ้ำ ในด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระยะยาวก็มีความก้าวหน้า อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอีกหลายๆประเทศ


นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการศึกษาภูมิต้านทานจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า จะมอบทุนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว มีภูมิคุ้มกันโรค เหมือนโรคระบาดอื่น ๆ หรือไม่ มีโอกาสกลับมาติดเชื้อหรือไม่ ภูมิคุ้มกันโรคมีเวลานานเท่าใด โดยจะวิจัยจากเลือดของผู้ติดเชื้อที่รักษาหาย ซึ่งมีกว่า 3,000 คน




นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ที่ปรึกษา รมช.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “โครงการวิจัย Hero COVID-19” เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในสังคม (Herd Immunity) มี 2 วิธี ได้แก่ การค้นคว้าวิจัยวัคซีน และการเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว โดยได้เชิญชวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว หรือ Hero COVID-19 รวมถึงผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยแต่ไม่ติดเชื้อ ร่วมบริจาคเลือด เพื่อศึกษาว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้เองหรือไม่ หากสามารถสร้างได้ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ การเกิดภูมิคุ้มกันใช้ระยะเวลาเท่าไร และภูมิคุ้มกันดังกล่าวสามารถอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน ทั้งนี้ หาก “โครงการวิจัย Hero COVID-19” ประสบความสำเร็จอาจนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาวิจัยวัคซีน หรือนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด



การติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่รอบโลกยังน่าวิตก อีกไม่กี่วันสถิติผู้ป่วยจะ 10 ล้านคน เหตุการณ์อนาคตจึงยากจะคาดเดาว่าเราจะเผชิญผลกระทบใดอีก 



การเปิดให้กิจการ กิจกรรมดำเนินต่อไป แม้บางรายการเสี่ยงมากก็ต้องยอม พร้อมกับมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้น ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็เลยต้องอยู่ต่อ