ครช.บุกสภาฯทวง รธน.ฉบับประชาชน

2020-06-24 15:50:48

ครช.บุกสภาฯทวง รธน.ฉบับประชาชน

Advertisement

ครช.บุกสภาฯทวงถามความคืบหน้ากระบวนการจัดทำ รธน.ฉบับประชาชน


เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่หน้ารัฐสภา  คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (กสรก.) นำโดยนายอนุสรณ์ อุณโณ ประธาน ครช. พร้อมด้วยมวลชนเดินทางมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในวาระครบรอบ 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในหัวข้อ “24 มิถุนา ทวงคืนมรดกคณะราษฎร ทวงสัญญารัฐธรรมนูญประชาชน” พร้อมทั้งยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมีตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 และแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล นายชำนาญ จันทรเรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ


นายอนุสรณ์ กล่าวว่า  รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ถูกจัดทำภายใต้คณะรัฐประหารนำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอกย้ำให้เห็นถึงความถดถอยทางอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการออกแแบบกลไกทางการเมืองให้สถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนอ่อนแอ ในวาระ 24 มิถุนาหรือวาระ 88 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถือเป็นโอกาสสำคัญของประชาชนที่จะรวมกันเรียกร้องให้มีการปักหมุดประชาธิปไตย สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับไปสู่รากฐานเดิม คือประชาชนทุกคนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ และมีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีความมั่นคงปลอดภัย มีความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ และมีสิทธิเสมอภาคกัน


นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา  ครช.ได้ยื่นข้อเสนอว่าด้วยหลักเกณฑ์และเเนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ 1.สร้างสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่นำเหตุความมั่นคงมาอ้างในการจำกัดเสรีภาพให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และสร้างหลักประกันด้านรัฐสวัสดิการ 2.สร้างกลไกเข้าสู่อำนาจที่ยึดโยงกับประชาชน กำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. และส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด การปฏิรูปประเทศหรือยุทธศาสตร์ชาติ ต้องไม่เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มเดียวและต้องไม่นิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร  3.ให้ตราพระราชบัญญัติการรับฟังความเห็นของประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นของประชาชนมีผลผูกพันในทางกฎหมายและทางการเมืองต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยเพียงเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง