"ธนาธร"เสนอจัดการงบ 4 แสนล้านใหม่

2020-06-21 23:00:45

"ธนาธร"เสนอจัดการงบ 4 แสนล้านใหม่

Advertisement

"ธนาธร" บรรยาย "Common School" เสนอจัดการงบ 4 แสนล้านใหม่ โดยคำนึงถึงซัพลายเชนของโลกปัจจุบัน 

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ยูทูบคณะก้าวหน้า - Progressive Movement นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า ร่วมบรรยายในหลักสูตร "โควิด -1984" ซึ่งเป็นซีรีส์บรรยายสาธารณะของ "Common School" โดยระบุในหัวข้อ "มองโลกผ่านซัพพลาย เชน (supply chain):จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย" ตอนหนึ่งว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสส่งผลกับห่วงโซ่การผลิตหรือซัพพลายเชน ทำให้เกิดภาวะช็อกขึ้นในห่วงโซ่การผลิตของโลกในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ซัพพลายเชนในระดับโลกชะงักลง เเละทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนบทบาทของรัฐ เเละบทบาทของซัพพลายเชนมีรูปแบบที่น่าสนใจอยู่ 2 อย่างด้วยกัน คือ 1. ความรู้สึกของประชาชนทั่วประเทศของตัวเองที่ไม่มีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ 2.ความรู้สึกของประชาชนที่รู้สึกว่าประเทศของตัวเองไม่มีความมั่นคงทางด้านการสาธารณสุข ซึ่งมีมาก่อนแล้วแต่โคโรน่าไวรัสทำให้ความรู้สึกแบบนี้ทวีคูณขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงทำให้ความพยายามที่จะรักษาซัพพลายเชนไว้ มีความซับซ้อนสูงขึ้น การแยกย้ายกันผลิตตามความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ของโลก ถูกมองให้กลับมาเป็นการดึงงานกลับมาอยู่ในประเทศ หรืออยู่ในแถบภูมิภาคของตัวเองมากขึ้น นี่คือกระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับ หรือ Reverse globalization จาก globalization กลายเป็น Reverse globalization กลายเป็น Regionalization จากความกังวลที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะหันกลับมามองประเทศไทยผ่านมุมมองของห่วงโซ่การผลิตของโลกอย่างจริงจัง ว่าเราจะใช้โอกาสนี้พาประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไร 

นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง ก็คือทิศทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกหลังโควิดที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่และปัญหาเฉพาะของประเทศนี่คือปัจจัยหลัก นี่คือโจทย์หลัก ซึ่งการออกแบบของประเทศไทยให้เหมาะสมกับห่วงโซ่การผลิตใหม่หลังโควิดของโลก ซึ่งถ้าเราทำได้ดีจะทำให้ประชาชนมีงานทำงานที่มีผลตอบแทนดีที่มีคุณค่า งานที่มีความหมาย จะทำให้เราประเทศเรามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และจะทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ข้ามจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ นี่คือโอกาสที่สำคัญสำหรับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดเตรียมงบประมาณไว้ก้อนหนึ่งเพื่อต่อสู้การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งพบก้อนนี้มีจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 1. งบประมาณเพื่อการเยียวยาเพื่อการสาธารณสุขและเพื่อการฟื้นฟูประเทศ 1 ล้านล้านบาท 2. งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี 500,000 ล้านบาท 3. งบประมาณเพื่อพยุงเสถียรภาพทางด้านการเงินในตลาดทุนผ่านการพยุงหุ้นกู้อีก 4 แสนล้านบาท รวมกันทั้งหมด 1.9 ล้านบาท ที่สำคัญจริงๆ คือ การฟื้นฟูประเทศกับการพาประเทศไปข้างหน้ากับการปรับเปลี่ยนบทบาทของประเทศไทยในห่วงโซ่การผลิตโลก

"งบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทที่อยู่ใน 1 ล้านล้านบาทก้อนแรก จนถึงวันนี้ ได้ให้หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ยื่นโครงการข้อเสนอว่าใครจะต้องการใช้เงิน โดยส่งข้อเสนอเข้ามาตั้งแต่วันที่ 5 - 15 มิ.ย. พบว่าโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมากและเกินกรอบงบประมาณไปแล้ว ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามา โดยมากเป็นการทำถนนกว่า 12,000 กว่าโครงการ เป็นเรื่องการจัดการน้ำ 7,000 โครงการ เป็นเรื่องการจัดการด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอบรมเกษตรกร หรือการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อีก 5,461 โครงการ ซึ่งถ้าเราดูภาพรวมของโครงการต่างๆ เหล่านี้ จะเห็นว่าเราไม่มีโครงการ หรือไม่มียุทธศาสตร์ที่คำนึงว่าประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในห่วงโซ่การผลิตใหม่ของโลกหลังโควิดเลย เราเห็นแต่รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐแบบเดิม ถ้ายังจัดการใช้แบบนี้ประเทศไทยจะไม่ไปข้างหน้า จะไม่พร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ข้อเสนอที่ผมอยากจะให้ทุกคนได้เห็น คือ ต้องจัดการงบ 4 แสนล้านตัวนี้เสียใหม่ โดยการคำนึงถึงซัพลายเชนของโลก ณ ปัจจุบันนี้ด้วย" นายธนาธร กล่าว

นายธนาธร กล่าวว่า สิ่งที่ตนพูด คือ การมองเศรษฐกิจการเมืองระดับโลกหลังจากโควิด การมองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีซึ่งโควิดมาเป็นตัวเร่งมันทำให้มันรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น และการมองปัญหาของประเทศไทยภายใต้ทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัด เราจะเลือกทำอะไร ไม่ทำอะไร เราจะอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่การผลิตของโลกในสินค้าและบริการต่างๆ ถ้าตัดงบประมาณออกมาส่วนหนึ่ง ไม่ใช่เอาไปทำในรูปแบบเดิม เช่น สร้างถนน ขุดบ่อน้ำ ต้องเอามาสร้างงานในรูปแบบใหม่ๆ ด้วยการคำนึงถึงห่วงโซ่การผลิตระดับโลกอย่างมียุทธศาสตร์จริงๆ โดยมองว่าประเทศไทยจะทำอะไรบ้าง จะเกิดการจ้างงานจากอะไร แต่ทั้งหมด จะไม่สามารถเกิดได้เลยถ้าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกไม่มีอยู่ในประเทศนี้ ที่มาของนวัตกรรมก็คือความคิดสร้างสรรค์ และที่มาของความคิดสร้างสรรค์นั้นก็มาจากการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ ในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมที่ประชาชนทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ไม่ใช่มาจากประชาชนที่ถูกกดทับ ไม่ได้มาจากประชาชนที่ถูกด้อยค่า ไม่ได้มาจากประชาชนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีสิทธิ์เสรีภาพความเป็นมนุษย์ ดังนั้น ถ้าเราอยากจะเห็นสังคมไทยที่ก้าวหน้าเท่าทันโลกมีนวัตกรรมที่เป็นของตัวเองจำเป็นที่จะต้องปกป้องการมีอยู่ของสิทธิเสรีภาพอันเป็นรากฐานที่สำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการบรรยายดังกล่าว นายธนาธร ได้นำเสนอตัวอย่างโครงการและงานที่จะเกิดขึ้นภายใต้การคิดคำนึงถึง ห่วงโซ่การผลิต หรือ supply chain ของโลกในปัจจุบัน เช่น การเสนอผลิตเครื่องช่วยหายใจใช้ภายในประเทศ โดยมีรัฐมีบทบาทสำคัญทั้งในฐานะผู้ซื้อ ผู้สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนดังกล่าว, อุตสาหกรรมรถไฟในประเทศ แทนที่จะนำเข้ารถไฟทั้งหมดก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นผู้ผลิตในแต่ละระดับ จนสามารถผลิตเองได้ทั้งหมด, อุตสาหกรรมเกษตร อาทิ ยางพารา ต้องมีการจัดวางตำแหน่งของผู้เล่นต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิตยางใหม่ โดยเกษตรกรไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ขายออกจากสวนอีกต่อไป แต่ต้องมีส่วนร่วมในการแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ขั้นต้นด้วย ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ต้องออกไปแข่งขันในตลาดโลกแล้วเอามูลค่าเพิ่มกลับเข้าในประเทศไทย และสุดท้าย นายธนาธร พูดถึงการเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงบริการของภาครัฐ ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดค่าใช้จ่าย เวลา เอกสารต่างๆ และเป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง