"คำนูณ"จี้กรมศิลป์เอาผิดรื้อ "บ้านบอมเบย์เบอร์มา"

2020-06-21 12:29:05

"คำนูณ"จี้กรมศิลป์เอาผิดรื้อ "บ้านบอมเบย์เบอร์มา"

Advertisement

"คำนูณ"จี้กรมศิลปากรแจ้งความเอาผิดรื้อ "บ้านบอมเบย์เบอร์มา"ชี้ผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการรื้อถอนอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน จ.แพร่ อันเป็นบ้านไม้โบราณอายุเกือบ 130 ปีและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เคยเป็นสำนักงานของบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าที่เข้ามารับสัมปทานทำป่าไม้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ว่า ในเบื้องต้นกรมศิลปากรควรต้องดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษผู้เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน เพื่อสืบสวนสอบสวนสาเหตุที่แท้จริง เพราะเป็นการกระทำผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 แก้ไขปรับปรุง  พ.ศ.2535 โดยชัดแจ้ง เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดจากกรมศิลปากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายคำนูณกล่าวว่าข้อเท็จจริงจากการประชุมชี้แจงระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ กับเครือข่ายภาคประชาชนที่ศาลากลางจังหวัดแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิย. ปรากฎชัดเจนว่าไม่ได้มีแจ้งกรมศิลปากรอย่างสมบูรณ์ก่อนการรื้อถอน และกรมศิลปากรยังรอเอกสารจากสำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) อยู่ แต่ก็เกิดการรื้อถอนขึ้นก่อน แม้กรมศิลป์จะพยายามเข้ามาเยียวยา โดยจะพยายามสร้างใหม่ให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าจะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินมากกว่าที่โครงการนี้มีอยู่ 4.5 ล้านบาทแน่นอน และการสร้่างใหม่โดยไม่มีแผนการศึกษาตามหลักการบูรณะโบราณสถานไว้ก่อนอย่างชัดเจนจะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้น สิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้น เป็นความเสียหายแก่แผ่นดิน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นายคำนูณกล่าวว่า แม้บ้านบอมเบย์เบอร์มาจะไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากร และอยู่นอกเขตอนุรักษ์เมืองเก่า แต่บ้านบอมเบย์เบอร์ม่าก็ยังถือเป็นโบราณสถานตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถานฯอยู่ดี โดยเป็นโบราณสถานประเภทที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน การจะซ่อมแซมปรับปรุงรื้อถอนหรือทำให้เปลี่ยนสภาพด้วยวิธีการต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร และปฏิบัติตามเงื่ิอนไขที่กำหนด โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 10 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีโทษทางอาญา การไม่ได้ขึ้นทะเบียนไม่ได้แปลว่าไม่ได้เป็นโบราณสถาน เรื่องนี้ยังเข้าใจผิดกันอยู่มาก หากอ่านมาตรา 32 โดยนัยจะเห็นชัดเจนว่ากฎหมายแบ่งแยกโบราณออกเป็น 2 ประเภท และกำหนดไว้ว่าการกระทำผิดต่อโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วจะมีโทษหนักกว่า

ขอบคุณภาพเฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน