“สุวัจน์” มองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยหลังโควิด-19 ไทยมีจุดแข็งคุมโรคได้ดี นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นความปลอดภัย
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับสมาคมการท่องเที่ยวอาเซียน(ASEANTA) ในประเด็นทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกับอาเซียน หลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นอย่างไร? ว่า มองว่าท่ามกลางวิกฤต ย่อมมีโอกาส เป็นโอกาสของประเทศไทย คือ ความสำเร็จ ในเรื่องของการควบคุมโควิดได้ ถือว่าเราได้รับคำชมเชย จากทั่วโลกว่าประเทศไทยมีการบริหารการจัดการที่ดี มีพื้นฐานของสาธารณสุขที่ดี มีความร่วมมือร่วมใจประชาชนคนในชาติที่ดี ทำให้เราพ้นเรื่องโควิดมาได้ ฉะนั้นตอนนี้เลยกลายมาเป็นจุดแข็งว่ามาเมืองไทยนี้ปลอดภัย มาเมืองไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดี มาเมืองไทยแล้วไม่ต้องกลัวโรคนั้นโรคนี้ พื้นฐานที่เราดูแลเรื่องโควิดได้ก็เหมือนเราเอาวิกฤตมาเป็นโอกาส คือ จากนี้ไปประเทศไทยมีจุดแข็งเราก็ต้องมีการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธารณสุข ให้เข้มแข็งต่อไป เพื่อเป็นการต่อยอดว่าเมืองไทยมีระบบสุขภาพ อนามัย สาธารณสุข และมีโครงสร้างพื้นฐานเข้มแข็ง เพื่อเป็นการรองรับพื้นฐานเศรษฐกิจ
"ต่อไปผมเชื่อว่านักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวจะแห่มาประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังมีอนาคต เพราะไลฟ์สไตล์ผู้คนในโลกนี้เปลี่ยนไปให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ การมีชีวิตที่ยืนยาว เรื่องการท่องเที่ยวมีความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจทุกประเทศ ตอนนี้หยิบเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นวาระที่สำคัญของแต่ละประเทศก็มีบุคลิก มีธรรมชาติ มีความงดงามที่เป็นวัฒนธรรมของแต่ละชาติที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกหยิบเรื่องการท่องเที่ยวก็เลยทำให้ชีวิตของผู้คนบนโลกนี้มีความสุขได้เห็นธรรมชาติ ได้เห็นวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันไป นี่คือ เหตุผลที่การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มาแรงและเป็นผลดีต่อการพัฒนาของแต่ละประเทศโดยเฉพาะอาเซียน ผมถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและอยู่ในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลก”
นายสุวัจน์ กล่าว
นายสุวัจน์ กล่าวต่อว่า คิดว่าเป็นโอกาสที่ทุกประเทศในอาเซียนต้องกลับมาทบทวนและวางยุทธศาสตร์กันใหม่ ถือว่าโควิดมาขัดจังหวะช่วงสั้นๆ อย่าพึ่งท้อถอย เราสามารถที่จะเป็นโอกาสได้ และโดยเฉพาะโอกาสของชาวอาเซียน หรือโอกาสของประเทศไทย เชื่อว่าจากนี้ไปพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวก็จะเปลี่ยนไป เรามักจะพูดคำว่า new normal คือ อะไร ทุกคนก็จะมี Social Distancing ทุกคนจะสั่งอาหารออนไลน์ ทุกคนจะ Work from home เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่เกิดโควิด และถ้าโควิดจบพฤติกรรมจะเปลี่ยนไปไหม เค้าเรียกว่า new normal ที่เห็นชัดก็คือว่าอะไรที่มันไม่แน่ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ จากนี้ไปว่าสมมติปีหน้าเรื่องโควิดจบเราก็เชื่อว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางการท่องเที่ยวจะกลับมาแต่จะกลับมาแบบไหน เพราะพฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ นักท่องเที่ยวต้องถาม ว่าผมไปประเทศนี้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บไหม ปลอดภัยจากโรคระบาดไหมคุณมีระบบสาธารณะสุข ระบบหมอแพทย์พยาบาล อุปกรณ์ต่างๆที่จะดูแลผมไหม ฉะนั้น ผมคิดว่าในเรื่องของ save สุขภาพเรื่องของอนามัย เรื่องสาธารณสุข เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บถ้าประเทศไหนสามารถพิสูจน์ได้ ประเทศนั้นมีโครงสร้างพื้นฐานมีความมั่นคงแข็งแรง ในเรื่องของการดูแลสาธารณสุขประเทศนั้นก็จะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
“ผมพูดอย่างนี้กำลังจะบอกว่าท่ามกลางวิกฤติเป็นโอกาสของชาวอาเซียน เพราะจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทั่วโลกขนาดนี้ที่ตัวเลขผู้ประสบภัยในเรื่องของโควิดติดเชื้อ 8 ล้านกว่าคน เสียชีวิตประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็ประมาณ 4 แสนกว่าคน แต่ไปดูไซด์กลุ่มประชาคมอาเซียนมีสถิติต่ำที่สุด ประเทศไทยก็มีสถิติต่ำที่สุดมีติดเชื้อ 3 พันกว่าคน 50 กว่าคนที่เสียชีวิต ถ้ารวมทั้งอาเซียนผมถือว่าภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งแข็งแรงในการต่อสู้กับโควิด สะท้อนให้เห็นว่าความเข้มแข็งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านสาธารณสุขของอาเซียนไม่ได้เป็นรองใครเลย นี่คือจุดแข็งนี่ คือ วิกฤตเป็นโอกาส จากนี้ไปเราสามารถที่จะสร้างจุดแข็ง คือ promote ให้เป็นจุดขายเหมือนระบบเป็น infrastructure ที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ฉะนั้น ผมคิดว่าหลังโควิดแล้วถ้าเราได้ปรับตัวและพัฒนาจุดขายของเราให้เป็นตลาดที่เข้มแข็ง มีระบบสาธารณสุข เป็น Wellness center ของโลก และเป็น Medical hub ฉะนั้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเราน่าจะเอาจุดแข็งของอาเซียน” นายสุวัจน์ กล่าว