ผลสำรวจชี้ "เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า"จากวิกฤตโควิดพุ่ง

2020-06-18 18:30:23

ผลสำรวจชี้ "เครียด-หมดไฟ-ซึมเศร้า"จากวิกฤตโควิดพุ่ง

Advertisement

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยผลสำรวจระดับความเครียด ภาวะหมดไฟ ซึมเศร้า อยากทำร้ายตัวเอง จากวิกฤตโควิด-19 ของบุคลากรการแพทย์ ประชาชน เพิ่มขึ้น 

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.  นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กินระยะเวลายาวนานในขณะนี้ ประชาชนทุกคนกำลังเผชิญปัญหาเพื่อก้าวผ่านภาวะวิกฤตที่หนักหน่วง เพราะสัญญาณของการเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ของการระบาดนั้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งการนำไปสู่สาเหตุของการฆ่าตัวตาย ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีภาวะเหนื่อยล้า หมดไฟ ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งมาจากการผ่อนปรนมาตรการบางส่วนจนทำให้ประชาชนและบุคลากรทางการเกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดซ้ำ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้เกิดความท้อแท้และสร้างความเครียดวิตกกังวล จากผลการสำรวจการรับรู้และภาวะสุขภาพจิตบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนไทยจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยกรมสุขภาพจิต พบว่าระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน โดยบุคลากรทางการแพทย์สูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 4.8 เป็น 7.9 ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 2.7 เป็น 4.2

นพ.จุมภฎ กล่าวต่อว่า ภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ สูงขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็น 6.5 ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสูงขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็น 3.6 และจากการอาการซึมเศร้าในบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 เป็น 3.0 โดยขณะที่ประชาชนทั่วไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 เป็น 1.6 และมีความคิดอยากทำร้ายตนเองในบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 เป็น 1.3 โดยขณะที่ประชาชนทั่วไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 เป็น 0.9 โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความเครียดมาจากสถานการณ์การระบาดของทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น การผ่อนปรนมาตรการดูแลตนเองบางส่วนอาจสร้างความวิตกกังวลว่าจะเกิดการระบาดซ้ำ อีกทั้งยังมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องของรูปแบบวิถีชีวิตและเศรษฐสถานะที่ยังคงอยู่ ซึ่งการลดลงของความเครียดโดยรวมในการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้อาจเกิดจากการคลายกังวลชั่วคราวจากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆในช่วงแรก

นพ.จุมภฎ กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์คลื่นลูกที่ 4 บุคลากรและประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยพลังใจที่ยืดหยุ่น เพราะถึงแม้จะมีความวิตกกังวล แต่ก็เป็นการกังวลที่เตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าด้วยการ “อึดฮึดสู้” ซึ่งการเริ่มต้นสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยมองด้านบวกที่สร้างสรรค์ มองเห็นทรัพยากรและสัมพันธภาพดีงามรอบ ๆ ตัว ที่จะสร้างโอกาส และทำให้โอกาสในชีวิตปรากฏขึ้น ซึ่ง อึด คือ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง สงบ มั่นคง ทนต่อแรงกดดัน ควบคุมตัวเองได้ และมั่นใจว่า ตนเองต้องเอาชนะปัญหา อุปสรรคและผ่านพ้นวิกฤตได้ และ ฮึด คือ การมีกำลังใจ หรือมีแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน ซึ่งกำลังใจนี้มีที่มาสำคัญ คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง และท้ายที่สุด สู้ ซึ่งหมายถึง ต่อสู้เอาชนะอุปสรรค ปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะความสามารถในการแก้ไขปัญหา และมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์และความเครียด กรมสุขภาพจิตขอแสดงความห่วงใยไปถึงพี่น้องประชาชน เราทุกคนกำลังต้องต่อสู้กับวิกฤตที่รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้เราทุกคนคงต้องตระหนักและหันมามองปัญหาด้านสุขภาพจิตว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน รวมไปถึงการแบ่งปันการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สามารถใช้เป็นพลังบวกให้กับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง คนรอบข้าง และครอบครัว ช่วยกันดึงพลังแฝงที่มีอยู่ในใจทุกคน ให้ “อึด ฮึด สู้” และผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน หรือใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชม.