ไม่มีงบเลือกตั้งท้องถิ่น ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

2020-06-16 11:10:53

ไม่มีงบเลือกตั้งท้องถิ่น ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

Advertisement

ต้องการสื่อความหมายอะไร เมื่อวิษณุ เครืองาม รองนายกฯและมือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ให้สัมภาษณ์สื่อ บอกไม่มีงบสำหรับเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว หลังนำงบไปใช้แก้ปัญหาโควิด 19

คล้ายอยากสื่อความหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจไม่มีเกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งที่หลังจากเลือกตั้ง ส.ส. เดือนมีนาคม 2562 แล้ว มีการพูดถึงเลือกตั้งท้องถิ่นหลายครั้ง โดยเฉพาะจากแกนนำในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนคาดหมายกันว่า จะมีบาง อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ได้เลือกตั้งในช่วงปลายปี 62 และที่เหลือจะเลือกตั้งได้ในปี 63

จุดกระแสให้ท้องถิ่นตื่นตัวเตรียมการเลือกตั้ง มีหลายคนเปิดตัวเป็น ว่าที่ผู้สมัครอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้ง อบจ.ใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ปทุมธานี จันทบุรี หรือแม้แต่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 องค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เช่นเดียวกับรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ

แต่เมื่อโควิด 19 แพร่ระบาด เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนทั้งโลกได้รับผลกระทบ รวมทั้งประเทศไทย เรื่องเลือกตั้งท้องถิ่นก็เงียบหายไป เช่นเดียวกับอีกหลายๆเรื่อง กระทั่งเมื่อโควิด 19 ในประเทศไทยเริ่มซาลง เลือกตั้งท้องถิ่นจึงกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง โดยเฉพาะจากแรงกดดันและทวงถามจากซีกฝ่ายค้าน

อปท. ปัจจุบันมีรวม 7,852 แห่ง แบ่งเป็น อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) 76 แห่ง เทศบาล 2,454 แห่ง อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) 5,320 แห่ง และท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กรุงเทพฯและพัทยารวม 2 แห่ง ทั้งหมดไม่ได้มีการเลือกตั้งอีกเลยนับตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แต่ใช้วิธีให้ปฏิหน้าที่ต่อหรือปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นส่วนใหญ่ กระแสให้เร่งจัดเลือกตั้งท้องถิ่นจึงจุดติดพอสมควรสำหรับประชาชนทั่วไป

เมื่อคนในรัฐบาลอ้างเหตุไม่มีงบจัดเลือกตั้ง จึงไปกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรู้สึกและเชื่อว่ารัฐบาลต้องการยื้อเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง รวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการต่ออายุให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งหมายถึงการสานผลประโยชน์ลงตัว และรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดเอาไว้ได้ แต่หากให้มีการเลือกตั้ง แล้วปรากฎว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชนะเลือกตั้งท้องถิ่น รัฐบาลอาจเจอแรงกระเพื่อมจากการเคลื่อนไหวกดดัน หรือเห็นแย้งกับนโยบายของรัฐ และผู้บริหารท้องถิ่นมักเป็นมือไม้หรือบริวารของนักการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะ ส.ส. ซึ่งในหลายพื้นที่หลายภาค รัฐบาลโดยพรรคที่เป็นแกนหลักอย่างพลังประชารัฐ ยังไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ถึง อีกทั้งแม้จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ก็พร้อมเป็นคู่แข่งชิงชัยในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อสร้างฐานเสียงเตรียมไว้ สำหรับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป 

ความจริง เลือกตั้งท้องถิ่นจะใช้งบของอปท.ดำเนินการ หากไม่เพียงพอ สามารถขอรับงบอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านกระทรวงมหาดไทยได้ จากข้อมูลล่าสุดของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ สถ. หลังมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าฯทุกจังหวัดให้สำรวจข้อมูลและตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 63ตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ เรื่องค่าใช้จ่ายเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พบว่า อปท.บางส่วนไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณเลือกตั้ง บางแห่งต้องใช้งบเหลือจ่ายหรือรายการอื่นที่ไม่จำเป็นหรืองบสะสมมาใช้แทน แต่บางส่วนมีงบไม่เพียงพอ ต้องขออุดหนุนจากมหาดไทย ระหว่าง 1 แสนบาทถึง 5 แสนบาท หรือเกินกว่า 1 ล้านบาทก็มี อบจ.เลย ขอรับเงินอุดหนุนสูงถึง 18 ล้านบาท เนื่องจากเดิมตั้งงบไว้เพียง 15 ล้านบาท แต่ประมาณการแล้วคาดว่าจะใช้จริงถึง 27 ล้านบาท

ขณะที่ อปท. อีกจำนวนหนึ่ง อ้างสาเหตุตรงกันว่า นำงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับเลือกตั้งท้องถิ่น ไปใช้่บริหารจัดการป้องกันโรคโควิด 19 ทำให้มีงบเหลือไม่เพียงพอสำหรับเลือกตั้ง ซึ่งน่าจะเป็นที่มาสำหรับคำอธิบายของรองนายกฯวิษณุที่ว่า ไม่มีงบสำหรับเลือกตั้งท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถหางบจากส่วนอื่นๆ เช่น งบกลาง หรือแม้แต่การกู้เพื่อนำมาใช้สำหรับเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ซึ่งแต่ละรูปแบบ อปท. จะใช้งบประมาณที่แตกต่างกัน เลือกตั้งนายกฯและสภา อบจ. อาจใกล้เคียงกับเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหลังสุด ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่รวมเลือกตั้ง อปท.ทุกรูปแบบ น่าจะไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเงินที่คุ้มค่าและไม่แพงเกินไปสำหรับการซื้อประชาธิปไตยให้กับคนไทยทั้งประเทศ

สำคัญที่สุด จึงอยู่ที่ความพร้อมหรือไม่พร้อมของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพรรคแกนหลักของรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ ที่ต้องคิดคำนวณจนมั่นอกมั่นใจว่าถ้าเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วต้องชนะ โดยเฉพาะเลือกตั้งอปท. แรก ต้องคว้าชัยเป็นปฐมฤกษ์เพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กับคนในพรรค รวมทั้งนักเลือกตั้งที่จะลงชิงชัยและกำลังอยู่ระหว่างเลือกพรรคการเมืองสังกัด แม้เลือกตั้งท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ตามที

ทำให้คาดหมายกันว่า บางที อปท. อาจเป็นเมืองพัทยา แทนที่จะเป็นกรุงเทพฯ เพราะเมืองพัทยานั้น ตระกูลคุณปลื้มแห่งบ้านใหญ่ชลบุรี นั่งแท่นบริหารติดต่อกันมายาวนาน และคนปัจจุบันที่มาจากคำสั่งแต่งตั้งพิเศษ คือ สนธยา คุณปลื้ม ส่วนสนามกรุงเทพฯนั้น แน่นอนว่าจะมีประเภท "บิ๊กเนม" ลงชิงชัยกันมาก จึงต้องเฟ้นหาคนที่โดดเด่นและเหมาะสมจริงๆ ขณะที่ผู้ว่าฯคนปัจจุบัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ก็ยังไม่แน่นักว่าจะลงในนามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

เมื่อยังไม่มั่นใจก็ต้องยื้อเวลาออกไปก่อนครับ แต่จะอ้างงบเลือกตั้งไม่มี อันนี้ทำไม่ได้ครั