ชาวศรีสะเกษ รุมอัดสร้าง"ศาลาที่พักผู้โดยสาร"สวยงามแต่กลับใช้ประโยชน์กันแดด-กันฝนไม่ได้
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ "เอกชัย พงษ์วิเศษ" ได้โพสต์รูปภาพพร้อมระบุข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ "SisaketToday ว่า ศาลาริมทางศรีสะเกษ-วังหิน เพื่อนเฟซคิดเช่นไร พร้อมใส่ภาพถ่ายศาลาริมทางสร้างใหม่บนถนน 4 เลนสายศรีสะเกษ-ขุขันธ์ ส่งผลทำให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากเข้าไปแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารย์กันไปต่างๆ นานา ถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอย อาทิ ดูดีแต่ใช้ประโยชน์หลบแดดหลบฝนไม่ได้, พยายามมองหาประโยชน์แต่ไม่เจอ, ไม่เหมาะกับภูมิอากาศประเทศไทย, สวยงามแต่สู้ศาลาริมทางแบบเดิมไม่ได้ เนื่องจากสามารถหลบแดดหลบฝนได้ หรือสิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องถามว่าทำเพื่ออะไร เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวนิว 18 จึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจศาลาที่พักริมทางดังกล่าว จึงพบว่ามีการสร้างศาลาที่พักริมรมทางในลักษณะเดียวกันหลายจุด โดยก่อสร้างแทนศาลาหลังเดิม มีลักษณะคล้ายป้ายรถเมย์ ความยาวประมาณ 4 เมตร กว้างประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งเท่ากันกับหลังคา และมีขนาดเล็กกว่าศาลาหลังเดิมมาก วัสดุส่วนใหญ่เป็นเหล็กและแสตนเลส หลังคาสูงโปร่ง ที่นั่งพักเป็นแผ่นเหล็กยาวประมาณ 3 เมตรไม่สามารถกันฝนหรือกันแดดในช่วงเช้าและบ่ายได้ ขณะที่แผ่นเหล็กซึ่งใชเป็นที่นั่งพักของผู้โดยสาร เมื่อถูกแดดส่องเป็นเวลานานจะร้อนจัดไม่สามารถนั่งพักเพื่อรถรอประจำทางได้ ชาวบ้านในพื้นที่จึงพากันบริจาคเงินเพื่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารกันขึ้นมาเอง เพื่อใช้หลบแดดหลบฝนขณะรอรถ รวมถึงผู้ใช้รถที่สัญจรผ่านไป-มาสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

ด้าน นายอำนาจ พันนา อายุ 60 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ที่พักผู้โดยสารที่สร้างขึ้นมาใหม่ใช้ประโยชน์ไม่ค่อยได้ ฝนตกก็อาศัยหลบฝนไม่ได้ เวลามีแดดก็อาศัยไม่ได้ จะใช้หลบแดดได้เวลาเดียว คือ ช่วงเวลาเที่ยง เนื่องจากพระอาทิตย์ตั้งตรงศีรษะ พี่น้องประชาชน นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งผู้ขับขี่รถผ่านไปผ่านมาจะจอดพักผ่อนหลบแดดหลบฝนก็อาศัยไม่ได้ ตนคิดว่าศาลาที่พักผู้โดยสารแบบเดิมดีกว่า เพราะมีขนาดใหญ่สามารถหลบแดดหลบฝนได้จริง และพักได้หลายคน ถึงแม้ว่าจะไม่สวยงามเท่าศาลาหลังใหม่ แต่ก็ดีกว่าใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย ชาวบ้านในพื้นที่จึงร่วมกันบริจาคเงินทั้งหมู่บ้านเพื่อก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารขึ้นมาเอง มูลค่า 19,000 บาท เพื่อเป็นจุดพักรอรถและจุดพักสำหรับผู้สัญจรผ่านไปมาให้ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงอยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยปรับปรุงแก้ไขศาลาที่พักผู้โดยสารให้เข้ากับสภาพพื้นที่ และใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่แค่สวยงามเพียงอย่างเดียว