ทีมนักวิจัยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ส่งโดรนเก็บภาพฝูงเต่าทะเลจำนวนหลายหมื่นตัว ขณะว่ายน้ำอพยพเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อไปทำรังวางไข่อยู่บนเกาะ “เรน” (Raine Island) เกาะปะการังที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยของฝูงเตาตนุที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเกาะเรนนี้ ตั้งอยู่บนขอบด้านนอกของแนวปะการัง “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” ทีมนักวิจัยบอกว่า เทคโนโลยีโดรน ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการสำรวจจำนวนเต่าทะเลที่ทำรังวางไข่บนเกาะเรนได้มากขึ้น โดยในเดือนธันวาคม 2562 นักวิจัยได้ส่งโดรนบินเหนือเกาะเรน เพื่อสำรวจและพบประชากรเต่าสายพันธุ์หายากประมาณ 64,000 ตัว พากันว่ายน้ำขึ้นฝั่งเพื่อทำรังวางไข่ ซึ่งเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก
การสำรวจประชากรเต่าก่อนหน้านั้น ทีมวิจัยใช้สีขาวที่ไม่มีสารพิษ แต้มลงไปบนกระดองโดยใช้เรือขนาดเล็ก เพื่อนับจำนวนเต่าทะเล แต่วิธีการนี้พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีความแม่นยำ ดังนั้นจึงหันมาใช้โดรน ทำให้สามารถวิเคราะห์ และคำนวณประชากรเต่าได้ดีขึ้น
นักวิจัยสามารถนับจำนวนเต่าได้ครั้งนี้ทำให้พบว่า มีจำนวนเต่ามากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าถึง 1.73 เท่า
สำหรับเกรตแบร์ริเออร์รีฟ มีพื้นที่ 348,000 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2524 โดยมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังที่กว้างขวางและน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโลก อีกทั้งยังถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญด้วย