"หมอเก่ง" ห่วง 2 ปัญหาลงนาม CPTPP

2020-06-10 23:40:57

"หมอเก่ง" ห่วง 2 ปัญหาลงนาม CPTPP

Advertisement

"หมอเก่ง" ห่วง 2 ปัญหาร่วมลงนาม CPTPP "ข้อพิพาทเอกชน CLยา - ขึ้นสิทธิบัตรยากขึ้น"  หวั่นประชาชนต้องใช้ยาแพง 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่รัฐสภา นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  ร่วมอภิปรายในญัตติด่วนเรื่อง "ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบหากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก" โดยระบุตอนหนึ่งว่า การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะเป็นความเสี่ยงของประเทศไทยที่จะถูกนักลงทุนต่างชาติ สามารถฟ้องอนุญาโตตุลาการจากการใช้สิทธิ CLยาได้ง่ายขึ้น ซึ่งในประเด็น CL ยา จะเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางยาของประเทศ และทำให้ยาสามัญที่จะขึ้นทะเบียนตำรับยา ยากขึ้น รวมไปถึงการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป เพื่อแลกการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.12 เปอร์เซ็นต์

นพ.วาโย กล่าวว่า  CLยา เป็นการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร มีปรากฎอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 51 โดยการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร คือในฐานะที่เป็นรัฐ บังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรของเอกชนได้ รัฐสามารถที่จะไปผลิต จัดจำหน่าย ใช้ประโยชน์เหนือสิทธิบัตรนั้นได้ โดยที่เอกชนไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอม ดังนั้นกล่าวได้ว่าการทำ CL ยาจะทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาที่ถูกลง ตามข้อตกลงที่ชื่อว่า TRIPS ซึ่งคือ ข้อตกลงด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเป็นข้อตกลงหนึ่งที่เหล่าประเทศภาคีสมาชิกขององค์การค้าโลกจำเป็นต้องเข้าร่วม ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกขององค์การค้าโลก (WTO)ด้วย ให้การที่ประเทศสมาชิกสามารถทำ CL ยา ได้ภายใต้ 3 ภาวะ บวกกับ 1 เงื่อนไข คือ 1.ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ  2.สถานการณ์อื่นที่มีความเร่งด่วนอย่างยิ่ง 3.การใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆทางสาธารณะแต่ไม่ใช่ใช้ในเชิงพาณิชย์  และเงื่อนไขคือ แต่เมื่อทำแล้วจำเป็นต้องชดเชยให้กับบริษัทของผู้ทรงสิทธิอย่างเหมาะสม

"เมื่อลงนามข้อตกลง CPTPP หรือเป็นสมาชิก จะทำให้ภาวะการใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ทางสาธารณะแต่ไม่ใช่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ จำเป็นต้องมีการตีความ ทั้งที่ก่อนนี้สิ่งที่ประเทศไทยมักทำ CL ยา คือใช้เหตุผลนี้แทบทั้งสิ้น เช่น กรณีโรคมะเร็ง ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ ไม่ใช่เหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ไม่ใช่โรคระบาดแต่เป็นการป้องกันสาธารณประโยชน์ ที่จะสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นและราคาถูก แต่ว่าหลังจากนี้อาจมีปัญหา และที่สำคัญคือทำให้บริษัทเอกชนสามารถฟ้องร้องได้ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าจะนำไปสู่ปัญหาในการตีความและการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งกำหนดให้สามารถส่งเรื่องไปที่อนุญาโตตุลาการของสหประชาชาติ และอนุญาโตตุลาการของธนาคารโลก ทั้งนี้ มีข้อสังเกตด้วยว่าถ้าผู้ออกกฎของ CPTPP ต้องการให้สามารถทำ CL ยาได้ มีทางเลือกในการบัญญัติที่ชี้ชัดได้เลย แบบที่ในข้อตกลงของ TRIPS ทำ นอกจากนี้ยังมีเอกสารวิชาการที่ช่วยยืนยันว่า มีความน่ากังวลว่าจะถูกใช้กระบวนการในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ ISDS มาใช้บังคับในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการตีความนอกเหนือจากขององค์การการค้าโลก (WTO)มักมีการตีความแบบแคบ ซึ่ง CLก็อาจจะหลุดได้ในท้ายที่สุดบริษัทเอกชนจะสามารถมาฟ้องรัฐในการทำ CL ยาได้โดยตรง" นพ.วาโย กล่าว

นพ.วาโย กล่าวว่า อีกประเด็นปัญหาเรื่องระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage) ซึ่งทางเลือกรัฐที่จะไปเข้าร่วม CPTPP มี 2 ทางเลือก โดยทางเลือกที่ 1 รัฐภาคีต้องจัดให้มีระบบที่แจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรทราบหรือเปิดโอกาสให้ผู้ทรงสิทธิบัตร สามารถรับการแจ้งเตือนว่ามีบุคคลอื่นพยายามจะวางตลาดในระหว่างเวลาการคุ้มครองของสิทธิบัตรยา รวมทั้งให้ระยะเวลาและโอกาสที่เพียงพอ ที่ผู้ทรงสิทธิจะแสวงหาการเยียวยา รวมถึงมาตรการต่างๆ อาทิ การใช้สิทธิทางศาลหรือกระบวนการทางปกครอง และการเยียวยาอย่างรวดเร็ว เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดของสิทธิบัตรยาในระยะเวลาที่เหมาะสม กล่าวได้ว่า ข้าราชการ องค์การอาหารและยาจะกลายเป็นเสมียนของบริษัทเอกชน  และทางเลือกที่ 2 ต้องใช้ระบบที่จำกัดไม่ให้มีการอนุมัติการวางตลาดแก่บุคคลที่พยายามจะละเมิดสิทธิบัตรยา โดยอาศัยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร ซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ยาเป็นยังไง ละลายน้ำยังไง ทดลองมาแล้วเป็นอย่างไร แต่เดิมเวลาบริษัทยาสามัญมาขึ้นทะเบียนจะทำการวิจัยฉบับย่อ เพื่อยืนยาว่ายาที่ผลิตไม่ได้ต่ำกว่ายาต้นแบบ ทำให้ต้นทุนจะไม่สูง เพราะ อ.ย. จะเอาข้อมูลบริษัทยาต้นแบบมาเปรียบเทียบ ซึ่งถ้า อย.เอาข้อมูลมาเปรียบไม่ได้ตามข้อตลกลง บริษัทยาสามัญต้องทำทดลองใหม่หมดตั้งแต่ต้น

"หากเข้าร่วม CPTPP จะยังคงทำ CL ได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะถูกเอกชนฟ้องง่ายขึ้น ขณะที่ Patent Linkage ปัญหาคือ ยาสามัญจะขึ้นทะเบียนตำรับยายากขึ้นและการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าออกไป ทั้งนี้ ทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเลวร้าย 100 % และดี 100 % ต้องมีประโยชน์และโทษ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักในการเลือกเข้า ประเด็นที่ได้พูดไปเป็นเพียงเรื่องย่อยเล็กๆเพียงสองเรื่องในการเข้า CPTPP เท่านั้น ที่ต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง ความมั่นคงทางยา และการเติบโตทางเศรษฐกิจ 0.12% ว่าคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ตัดสิน แต่เสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจริง โดยมี ผู้รู้ ตัวแทนประชาชน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาร่วมกันในคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย" นพ.วาโย กล่าว