สภาฯถก 7 ชม. ก่อนตั้ง 49 อรหันต์นั่ง กมธ.วิสามัญ CPTPP

2020-06-10 23:20:20

สภาฯถก 7 ชม. ก่อนตั้ง 49 อรหันต์นั่ง กมธ.วิสามัญ CPTPP

Advertisement

สภาฯถก 7 ชม. ก่อนตั้ง 49 อรหันต์นั่ง กมธ.วิสามัญพิจารณาผลกระทบการลงนาม "ซีพีทีพีพี"

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติด่วนเรื่อง การตั้งกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี-CPTPP) รวม 7ฉบับ โดยนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายว่า การเข้าร่วมข้อตกลงซีพีทีพีพีมีข้อกังวลต่อผลกระทบด้านสาธารณสุขในการผลิตเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ที่ประเทศไทยอาจใช้ยาราคาแพงขึ้น การแข่งขันสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่จะเข้ามาตีตลาดเปิดเสรีด้านการค้า และเปิดโอกาสให้ต่างชาตินำพันธ์พืชพื้นเมืองในประเทศออกไปทำการวิจัยสร้างพันธ์พืชใหม่ เพื่อนำไปจดสิทธิบัตร ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธ์พืชไปเพาะปลูกต่อได้ ขณะนี้มีคำถามว่า ถ้าไม่ร่วมข้อตกลงจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะหลายประเทศไม่ร่วมข้อ ตกลงนี้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักบอกว่า ถ้าลงนามช้า ประเทศไทยจะตกรถ แต่ถ้าไม่รอบคอบไปลงนามแล้วเกิดผลเสียก็จะติดหล่มตามมา

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงซีพีทีพีพีต้องเสียประโยชน์มากมาย เพราะไปร่วมลงนามข้อตกลงภายหลัง ทำให้อำนาจการต่อรองมีน้อย ที่สำคัญอาจเกิดค่าแกล้งโง่รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช ถ้าเกษตรกรไม่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุน จะเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเพื่อขายไม่ได้ ทำให้นายทุนฟ้องเกษตรกรได้ เปิดช่องให้นายทุนปล้นเกษตรกรอย่างถูกกฎหมาย

จากนั้นสมาชิกอีกหลายคนได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง หลังจากสมาชิกอภิปรายครบถ้วนทุกคนแล้ว โดยใช้เวลา 7 ชั่วโมง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขอยกเว้นข้อบังคับการประชุม ให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาผลกระทบการลงนาม ซีพีทีพีพี  โดยไม่ต้องลงมติ เนื่องจากส.ส.ทุกอภิปรายเป็นแนวทางเดียวกันในการสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมไม่มีใครคัดค้าน จึงมีมติให้ตั้งกมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว จำนวน49คน พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน