"ศรีสุวรรณ"ร้อง กสม.บี้สอบ"กลาโหม"ล้วงข้อมูลมือถือ

2020-06-10 11:35:29

"ศรีสุวรรณ"ร้อง กสม.บี้สอบ"กลาโหม"ล้วงข้อมูลมือถือ

Advertisement

"ศรีสุวรรณ"บุกยื่นเรื่องร้องเรียน"กรรมการสิทธิฯ"บี้สอบปม"กลาโหม"ล้วงข้อมูลมือถือคนไทย

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชั้น 6 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการแชร์ลิงก์เอกสารซึ่งเป็นหนังสือจากกระทรวงกลาโหม ถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และหนังสือจากกรมควบคุมโรคถึง กสทช. ซึ่งมีเนื้อหาขอให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ส่งข้อมูลตำแหน่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ย้อนหลัง 14 วันนั้น

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.4 ประกอบ ม.25 ที่ให้การคุ้มครองประชาชนไว้ อีกทั้งเป็นการฝ่าฝืน ม.19, ม.20, ม.24 และ ม.26 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 แม้กระทรวงกลาโหม จะออกมาแถลงแก้ตัวว่าเป็นเพียงการระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้นก็ตาม แต่แนวคิดและการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง




เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวต่อว่า แม้จะอ้างว่า พรก.ฉุกเฉิน สามารถทำได้นั้น ขอให้พึงสังวรณ์ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีสถานะต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ จะมาอ้างข้อยกเว้นที่กระทบสิทธิของประชาชนมิได้ อีกทั้งการติดตามสัญญาณโทรศัพท์บุคคลเป้าหมายดังกล่าว มิได้บ่งบอกว่าจะป้องกัน หรือควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ได้อย่างไร เพราะคนไม่ใช่ก้อนหินที่จะอยู่นิ่งกับที่ หากแต่มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ ทุกวัน การนำเรื่องการควบคุมโควิด-19 มากล่าวจึงเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น และเป็นการแก้ตัวที่ไร้เหตุผลที่เพียงพอ หากแต่เป็นการละเมิดกฎหมายโดยหน่วยงานของรัฐเสียเอง

นายศรีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย ว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทัก์รัฐธรรมนูญไทย จำต้องนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. เพื่อให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.247 ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการ หรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกัน หรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากนั้น นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและติดตามการคุ้มครองสิทธิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รับเรื่องไว้ตรวจสอบ เพื่อดำเนินการต่อไป