ศาลตั้งวงเงินประกันตัวอดีตตำรวจที่ฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ เกือบ 40 ล้านบาท

2020-06-09 06:40:22

ศาลตั้งวงเงินประกันตัวอดีตตำรวจที่ฆ่าจอร์จ ฟลอยด์ เกือบ 40 ล้านบาท

Advertisement


เดเรค เชาวิน อดีตตำรวจเมืองมินนิแอโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ที่ถูกกล่าวหาว่า ฆาตกรรมนายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวดำ ขึ้นศาลครั้งแรกในวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายนตามเวลาท้องถิ่นด้วยการรับฟังการไต่สวนของศาลผ่านทางวีดิทัศน์ประมาณ 15 นาทีในชุดนักโทษสีส้มและถูกใส่กุญแจมือ ซึ่งผู้พิพากษาจีนไนซ์ เรดดิ่ง เห็นชอบกับข้อเสนอของอัยการให้กำหนดวงเงินประกันตัวโดยไม่มีเงื่อนไข 1.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 40 ล้านบาท หรือ 1 ล้านดอลลาร์โดยมีเงื่อนไข โดยทางคณะอัยการอ้างว่า “ความรุนแรงของข้อกล่าวหาในคดี” และเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจและสร้างความโกรธแค้นไม่พอใจของสาธารณชน เป็นเหตุผลในการการเพิ่มวงเงินประกันตัวจากเดิม 1 ล้านดอลลาร์

สำหรับเงื่อนไขที่พ่วงมากับวงเงินประกัน 1 ล้านดอลลาร์นั้นตามข้อเสนอของอัยการ รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย, ต้องมาปรากฏตัวต่อศาลในอนาคต, ไม่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคง หรือผู้รักษากฎหมายอีกต่อไป, มอบอาวุธปืนหรือกระสุนปืน และใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนให้เจ้าหน้าที่, ไม่เดินทางออกนอกรัฐมินนิโซตา และไม่ติดต่อกับครอบครัวของฟลอยด์ อีกทั้งเขาจะต้องสละสิทธิการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อได้รับการปล่อยตัวด้วย ซึ่งทางทนายความของเขา ก็ไม่ได้คัดค้านข้อเสนอการประกันตัวของอัยการ



เดเรค เชาวิน ตำรวจผิวขาว วัย 44 ปี ซึ่งใช้เข่ากดทับลงบนลำคอของฟลอยด์แนบติดพื้นถนนนานเกือบ 9 นาที ถูกจับกุมตัวเมื่อเดือนที่แล้ว และถูกตั้งข้อหาเบื้องต้น “ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา” (Third-degree murder) และฆ่าผู้อื่นโดยไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (Second-degree manslaughter) แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะอัยการได้เพิ่มข้อกล่าวหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเเต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน” (second-degree murder) อีกหนึ่งข้อหา ซึ่งอาจมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 40 ปี ส่วนอดีตตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย ถูกตั้งข้อหาให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการฆาตกรรม

เชาวิน วัย 44 ปี ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำโอ๊ค พาร์ค ไฮจ์ส รัฐมินนิโซตา หลังถูกย้ายเรือนจำหลายครั้ง และเขามีกำหนดจะขึ้นให้การต่อศาลอีกครั้ง ในวันที่ 29 มิถุนายน



การเสียชีวิตของฟลอยด์เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การประท้วงทั่วโลก และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ โดยการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่การเสียชีวิตของฟลอยด์ ขณะนี้ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 แล้วในสหรัฐ โดยมีการชุมนุมใหญ่ในหลายเมือง ซึ่งรวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.เมืองหลวง, นิวยอร์ก, ชิคาโก, ลอสแอนเจลีส และซานฟรานซิสโก กลุ่มผู้ประท้วงพากันตะโกนคำกล่าว “Black Lives Matter” หรือคนผิวดำก็มีความสำคัญ และ “No Justice, No Peace” หรือไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่มีสันติภาพ การประท้วงครั้งนี้ นับเป็นว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่สุดในสหรัฐในการแสดงพลังต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 แต่การประท้วงส่วนใหญ่ก็เป็นไปอย่างสงบ อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานการปล้นสะดมและความรุนแรงในหลายพื้นที่เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงในหลายเมืองใหญ่ของยุโรป ซึ่งรวมทั้งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงโรม ประเทศอิตาลี เพื่อสนับสนุน Black Lives Matter ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลีย ก็มีผู้เข้าร่วมหลายพันคน

โดยในเมืองบริสตอล ของอังกฤษ กลุ่มผู้ประท้วงได้โค่นทำลายรูปปั้นของเอ็ดเวิร์ด คอลสตัน พ่อค้าทาสคนสำคัญในช่วงศตวรรษที่ 17 ด้วย

สำหรับเอ็ดเวิร์ด คอลสตัน เติบโตในครอบครัวพ่อค้าวาณิชผู้มั่งคั่ง และเข้าร่วมก่อตั้งบริษัทหนึ่งในปี พ.ศ.2223 ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดในการค้าทาสจากประเทศแอฟริกาตะวันตก หรือจะเรียกว่า เป็นการซื้อขายมนุษย์ด้วยเงินตราก็ไม่ผิด บริษัทที่ว่านี้ คือ เดอะ รอยัล แอฟริกัน คัมพะนี (Royal African Company) หรืออาร์เอซี ประธานบริษัทอย่างเป็นทางการคือ พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ซึ่งในเวลาต่อมาขึ้นครองราชย์สมบัติเป็น พระเจ้าเจมส์ที่ 2 และพระองค์ก็เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ด้วย ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการค้าทาส รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก ด้วยการประทับตราสัญลักษณ์อักษรย่อ "RAC" ไว้บนหน้าอกของพวกทาส



เชื่อกันว่ามีชาวแอฟริกาทั้งผู้ชาย, ผู้หญิงและเด็กประมาณ 100,000 คน ถูกนำมาขายเป็นทาสในประเทศแถบแคลิบเบียน และอเมริการะหว่างปี พ.ศ.2215 ถึง พ.ศ. 2232 โดยนักประวัติศาสตร์ ประเมินว่า คอลสตัน เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของทาสประมาณ 20,000 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็กประมาณ 4,000 คน บนเรือทาสในช่วงศตวรรษที่ 17

คอลสตัน ยังเป็นสมาชิกรัฐสภาและผู้บริจาครายใหญ่ แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยของเขาได้มาจากการค้าและการทำนาบนหลังคน คือใช้ประโยชน์จากทาส เขาสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมากขึ้น ด้วยภาพของคนใจบุญสุนทาน ใช้เงินที่ได้จากการค้าทาสสนับสนุนและบริจาคสร้างโรงเรียน, โรงพยาบาล, บ้านสงเคราะห์คนยากจน และโบสถ์ต่าง ๆ ในเมืองบริสตอล, กรุงลอนดอน และสถานที่อื่น ๆ ซึ่งเพื่อเป็นการรำลึกถึง และให้เกียรติเขา ชื่อของเขาจะปรากฎอยู่ตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองบริสตอล ทั้งตั้งเป็นชื่อถนนหลายสายและโรงเรียนอีกหลายแห่ง

ไม่แปลกที่จะมีรูปปั้นสัมฤทธิ์ขนาดความสูง 18 ฟุต ตั้งตระหง่านอยู่บนถนนคอลสตัน เมืองบริสตอล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438



หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน รายงานว่า มีประชาชนในท้องถิ่น เข้าชื่อกันกว่า 11,000 คนร้องเรียนให้รื้อถอนรูปปั้นของเขาออกไปในช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่ คลีฟ ลูว์อิส ส.ส.พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ แสดงความยินดีที่ฝูงชนโค่นรูปปั้นของคอลสตัน ซึ่งเขาทวิตข้อความคำเดียวสั้น ๆ ว่า "Good"

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงบทบาทในการค้าทาสของคอลสตันมากขึ้น มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์ของคอลสตันในเมืองบริสตันหนาหูด้วย

ในที่สุดแล้ว รูปปั้นของคอลสตัน ผู้มั่งคั่งจากการค้าทาส ก็ถูกประชาชนรุมโค่นทำลายและโยนทิ้งน้ำ แต่ก็คงยากที่จะลบรอยแผลเป็นในใจของคนผิวดำ