สบส.เร่งสอบผู้เกี่ยวข้องไขข้อกระจ่างการแท้งลูกใน รพ.เอกชน หลังญาติตั้งข้อสงสัยหมอทำรุนแรงเกินไปหรือไม่
จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล ถึงสตรีมีครรภ์รายหนึ่ง ซึ่งเข้ารับบริการอัลตราซาวด์ 4 มิติ กับ รพ.แห่งหนึ่ง แต่ในขณะทำการตรวจแพทย์ผู้ให้บริการมีการกดท้องหญิงรายดังกล่าวอย่างรุนแรง ซึ่งญาติตั้งข้อสงสัยว่าการกดท้องอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุให้เกิดการแท้งในเวลาต่อมานั้น
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า เมื่อตนได้รับทราบข้อมูลการแท้งบุตรของหญิงรายดังกล่าว ก็ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกองกฎหมายดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวทันที โดยมุ่งในประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1)ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลมีการควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลของตนให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพตามที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กำหนดหรือไม่ 2)ในการให้บริการบริการอัลตราซาวด์ ผู้ประกอบวิชาชีพมีการดำเนินการตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ และ 3)สถานพยาบาลมีการควบคุม คุณภาพ มาตรฐาน ด้านสถานที่ ผู้ให้บริการ การบริการ เครื่องมือแพทย์ ยาและเวชภัณฑ์ให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายสถานพยาบาลกำหนดหรือไม่ ซึ่งขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ได้รับทราบข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว และจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องจาก รพ.เอกชนดังกล่าวมาชี้แจงข้อเท็จจริงในวันที่ 9 มิ.ย.2563 เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และสมประโยชน์ ตนขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักคุณธรรม มนุษยธรรมเป็นหัวใจในการบริการ ยิ่งผู้ป่วยที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ยิ่งต้องให้การดูแลอย่างรอบคอบรัดกุมเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดและหลังคลอด
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตของทารกเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของผู้ให้บริการ ก็จะมีการเอาผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับตัวของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลในฐานปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมและดูแลผู้ประกอบวิชาชีพให้ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้ง จะมีการส่งผู้ข้อมูลให้สภาวิชาชีพดำเนินการในด้านจริยธรรมกับผู้ประกอบวิชาชีพต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแส หรือพบการกระทำผิดของสถานพยาบาลเอกชน ในเขต กทม.สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1426 กรม สบส. และศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7057 เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย