โควิดลดคนป่วยสุขภาพจิตเพิ่ม ติดศูนย์14วันแต่หมอยังให้ติดรอ

2020-06-08 21:40:00

โควิดลดคนป่วยสุขภาพจิตเพิ่ม   ติดศูนย์14วันแต่หมอยังให้ติดรอ

Advertisement




รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ของไทย คล้ายเป็นปกติใหม่ ที่ตรวจพบ มักเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศที่กักตัวในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) สำหรับวันที่ 8 มิ.ย.63 ผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 7 ราย โดยกลับมาจาก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศปากีสถาน 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี 4 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย


เป็นวันที่ 14 ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นช่วงพ้นระยะความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19





จำนวนผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 3,119 ราย อยู่ในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 182 ราย หายแล้ว 2,973 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม คงตัวเลขเดิม 58 ราย 






ขณะที่การติดเชื้อทั่วโลก ยอดสะสมขึ้นไปถึง 7,086,476 ราย ผู้ป่วยใหม่เพิ่มอีก 111,755 ราย รวมผู้เสียชีวิต 406,126 ราย สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยยืนยันสะสมเป็นอันดับที่ 1 ของโลก 2,007,449 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 8


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงการระบาดที่เข้าสู่สัปดาห์ที่ 24(7 -13 มิ.ย.) ปรากฎว่า 2 สัปดาห์ล่าสุด ผู้ป่วยยืนยันเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสู่พื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantines) เพียงอย่างเดียว 77 ราย เทียบกับช่วงสัปดาห์ที่ 20 (10-16 พ.ค.) ปัจจัยเสี่ยง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine 2. สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ 3.ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด 4. อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 5.การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก/ผู้ติดเชื้อในชุมชน



อย่างไรก็ตาม โดยรวม ผู้ป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดถึง 1,191 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด 284 ราย สนามมวย 274 ราย คนไทยที่กลับจากต่างประเทศ 269 ราย สถานบันเทิง 227 ราย


การมีผู้ติดเชื้อน้อยและเป็นศูนย์ติดต่อกันถึง14วัน อาจเป็นที่สงสัยว่าตรวจน้อยเกินไปหรือเปล่า คุณหมอโฆษกให้ข้อมูลว่าตั้งแต่เริ่มตรวจจนถึงวันที่ 5 มิ.ย.63 ตรวจไปแล้ว 468,175 ตัวอย่าง






การไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศถึง 14 วัน เป็นประเด็นที่เชื่อว่าน่าจะปลอดภัย วางใจได้มากขึ้น แต่คุณหมอโฆษกบอกว่า ยังวางใจไม่ได้ เพราะการรายงานที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อบางรายไม่แสดงอาการใน 14 วัน การปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง การได้รับความร่วมมือจากประชาชาชนจะทำให้เข้าสู่การผ่อนคลายระยะต่อไปได้





แต่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง การผ่อนคลายก็ถึงระยะที่ 3 แล้วทาง ศบค.จึงปรับเปลี่ยนการรายงานประจำวัน เป็นการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาลโดยนพ.ทวีศิลป์ วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วน วันอังคาร พฤหัสบดี ให้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกแถลงที่กระทรวงสาธารณสุข วันเสาร์และอาทิตย์ อาจงด แต่จะนำเสนอข้อมูลทางเว็บไซต์ Facebook ไทยคู่ฟ้า และ Facebook ศูนย์ข้อมูล COVID-19


อีกเสียงที่เห็นว่าการไม่มีผู้ติดเชื้อ 14 วัน ยังไม่ใช่สิ่งที่วางใจได้ คือ นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่าต้องรอดูถึง 28 วัน อีกทั้งเรากำลังจะขยายการผ่อนปรนออกไป ซึ่งจะเป็นระดับความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เช่น โรงเรียน ที่บางประเทศหลังการเปิดโรงเรียน ก็มีการระบาดเกิดซ้ำ จึงต้องมีความตระหนักระวัง เพราะในชุมชนอาจมีคนติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ การออกนอกบ้านจึงต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ และเว้นระยะห่าง การไปทุกที่ที่เปิดดำเนินการ ต้องคำนึงว่า หากมีความหนาแน่น ที่ชุมนุมชน อาจไม่ปลอดภัย ต้องพิจารณาว่าจะเสี่ยงไหม หากจะเข้าไปต้องมีระยะห่าง และยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ไม่มีผู้ติดเชื้อมา 55 วันแล้ว ก็ยังไม่ผ่อนคลาย ไม่เปิดน่านฟ้า จึงไม่มีใครเข้าประเทศ ไม่มีเชื้อจากต่างประเทศเข้าได้ ต่างกับของไทยที่ให้คนไทย แม้จากประเทศที่มีการระบาดของโรคกลับมาได้ เพราะมั่นใจว่า แล้วเราจะดูแลได้ดีกว่า



ขณะเดียวกัน นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ทางกรมคาดว่า หลังจากเดือนมิถุนายน 63 อาจมีคนใช้บริการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม จากหลายปัจจัย จากความเครียด ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าเดิม ที่จะกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของผู้รับบริการ อาจมีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น จากการรักษาไม่ต่อเนื่องและขาดยา จึงมีการพัฒนาระบบ เพื่อรองรับบริการสุขภาพจิตและจิตเวชสำหรับโรงพยาบาลในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ โดยจัดระบบจองคิว/นัดหมายออนไลน์ คลินิกสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ การนัดหมายคนไข้แบบเหลื่อมเวลา การรับบริการส่งยาทางไปรษณีย์หรือร้านขายยา รวมไปถึงการรับยาผ่านระบบ Drive thru เพื่อรักษาระยะห่าง มีระบบติดตามดูแลต่อเนื่องด้านสุขภาพจิตและจิตเวชรูปแบบใหม่ ได้แก่การทำระบบนัดติดตาม/Application การติดตามโดยตรงทางโทรศัพท์/VDO call (โปรแกรมโทรถามตามเยี่ยม) ระบบการรายงานตัวเอง (Self-report) ผ่าน Application/VDO call การเยี่ยมบ้านในรายกรณีที่จำเป็น/มีปัญหาซับซ้อนหรือเยี่ยมบ้านผ่านระบบ VDO call (VDO call visiting) ขณะเดียวกันหากรู้สึกหมดพลัง เครียดมากขึ้น สามารถใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง


ส่วนหนึ่งของการที่คนไข้จะเพิ่มขึ้น เพราะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19ช่วงแรก โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้เลื่อนนัดคนไข้ออกไปเป็นจำนวนมาก


อย่างไรก็ตาม แม้ ศบค.และคุณหมอจะยืนยันไม่ยอมลดการ์ดเพราะถือว่า 14 วันไม่มีผู้ติดเชื้อยังไม่น่าวางใจ ชาวบ้านก็ควรทำใจ ยอมรับปรับตัวกับวิถีใหม่กัน




ไหน ๆ ก็ทนมาหกเดือนแล้ว  สักพักจะชินไปเอง