"ดร.รยุศด์" ชี้ปัญหาผู้ลี้ภัยแยกออกจากการเมืองไม่ได้

2020-06-08 21:00:33

"ดร.รยุศด์" ชี้ปัญหาผู้ลี้ภัยแยกออกจากการเมืองไม่ได้

Advertisement

"ดร.รยุศด์" ชี้ปัญหาผู้ลี้ภัยแยกออกจากการเมืองไม่ได้ ต้องใช้มิติทางการเมืองแก้ไข ระบต้องเป็นการเมืองประชาธิปไตยเต็มใบนำ ไม่ใช่แบบครึ่งๆกลางๆ

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ดร.รยุศด์ บุญทัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทย กล่าวว่าประเด็นปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ ซึ่งสาเหตุของการลี้ภัยนั้นอาจจะมีหลากหลาย ไม่ว่าเพราะสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งทางศาสนา หรือสาเหตุอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ “การเมือง” (ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศหรือการเมืองในประเทศนั้นๆ)ล้วนเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาที่เป็นสาเหตุของการลี้ภัย หากพูดถึงผู้ลี้ภัย ชาวอุยกูร์น่าจะเป็นหนึ่งกลุ่มที่คนไทยต่างเคยได้ยินชื่อกันบ้าง อุยกูร์เป็นชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีนซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน ชาวอุยกูร์เป็นชนชาติที่มีความรุ่งเรืองมานานหลายศตวรรษ และเคยประกาศเอกราชขึ้นปกครองตนเองในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถูกจีนเข้ารุกราน และถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีนในปี 1949 หรือแม้กระทั่งกรณีสงครามมกลางเมืองซีเรียที่ทำให้ประชาชนชาวซีกว่าครึ่งประเทศต้องกลายมาเป็นผู้อพยพ ถึงแม้ตอนนี้ความขัดแย้งในซีเรียจะมีความซับซ้อนมากกว่าการเป็นแค่ปัญหาการเมืองภายใน แต่จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งก็เริ่มมาจากที่ ชาวซีเรียจำนวนมากไม่พอใจกับการบริหารประเทศของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ที่มีอัตราการว่างงานที่สูง การทุจริต และการขาดเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งการประท้วงรัฐบาลนั้นนำไปสู่การที่รัฐบาลใช้กำลังปราบปรามผู้ไม่เห็นด้วยจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ดร.รยุศด์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้บริบทของผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์หรือชาวซีเรียจะแตกต่างจากบริบทของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมจากการถูกเลือกปฏิบัติ หรือเพราะกฎหมายของประเทศนั้นๆ ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ดีไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มคนหนึ่งจะถูดจัดเป็นผู้ลี้ภัยประเภทใดก็ตาม จะเห็นได้ว่าในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย หากไม่วิเคราะห์ปัญหาในมุมมองทางด้านการเมืองด้วย ย่อมไม่อาจจะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเพราะสุดท้ายแล้วปัญหา “ผู้ลี้ภัย” และ “การเมือง” เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ สำหรับประเทศไทยเองก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันก็มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนไม่น้อย มีตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักวิชาการที่มีชื่อเสียง นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ฯลฯ รวมถึงกรณีล่าสุดของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าที่เป็นข่าวโด่งดังไม่ทั่วโลก ทั้งหมดล้วนเป็นผู้ลี้ภัยที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแทบทั้งสิ้น ดังนั้นหากจะแก้ไขเรื่องนี้ก็คงต้องใช้มิติทางการเมือง แต่คงต้องเป็นการเมืองที่มีประชาธิปไตยเต็มใบนำ ไม่ใช่แค่การเมืองแบบครึ่งๆกลางๆอย่างแน่นอน