"ปิยบุตร"หนุนยกเลิกวุฒิสภา

2020-06-06 23:00:09

"ปิยบุตร"หนุนยกเลิกวุฒิสภา

Advertisement

"ปิยบุตร"ชี้วุฒิสภาปัจจุบันเป็นการสืบทอดอำนาจ หนุนยกเลิก แม้ไม่มีระบบตรวจสอบก็ยังทำงานได้อยู่

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนา "เวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย" โดยเพจ New Consensus Thailand จัดขึ้นในหัวข้อ "ส.ว.ไทย อย่างไรดี ?" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การมีขึ้นของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. เป็นสถาบันการเมืองที่เดิมพันอำนาจบางอย่าง และนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองมากมาย  ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ออกแบบให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แล้วก็มีปัญหารเรื่องการแทรกแซง มีข้ออ้างเรื่องที่ว่าเป็นสภาผัวเมีย จนนำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ออกแบบให้ ส.ว.แต่งตั้งครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ยังมีปัญหาเดิมและนำมาสู่การที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งแบบในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ซึ่งยิ่งกว่าสภาผัวเมีย เพราะเป็นสภาแห่งการสืบทอดอำนาจ

นายปิยบุตร กล่าวว่า ประวัติศาสตร์การมีสภาที่สองนับเนื่องตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา จะเห็นว่า นี่คือ สนามแห่งการต่อสู้ของพลังการเมืองต่างๆ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนที่พยายามยึดไว้ ธรรมชาติการมีอยู่ของวุฒิสภา คือ ถ่วงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าสภาที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นหน้าตาจะออกมาอย่างไร อีกทั้ง บางช่วงบางตอน ส.ว. ก็เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ ดังนั้น การกำเนิดมาด้วยเหตุผลแบบนี้แล้ว ในความเห็นของตนคือไม่ต้องมีเลยก็ได้ กลับไปมีสภาเดียวก็ได้ เพราะถ้าไปดูในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเถียงกันอยู่เสมอว่ามีวุฒิสภาแล้ว ที่มาจะมาจากไหน และเมื่อให้อำนาจ ส.ว.มาก เช่น อำนาจถอดถอน อำนาจแต่งตั้งกรรมการอิสระ พลังการเมืองเหล่านั้นก็พยายามจะจะยิ่งเข้าไปยึดเอาอำนาจมาให้มากยิ่งขึ้น และก็กลับมาสู่โจทย์เดิมๆ คือ เลือกตั้ง ส.ว.โดยอ้อม, สรรหา หรือแต่งตั้ง แก้โจทย์ที่เป็นปัญหาไม่ได้สักที


"อย่างไรก็ตาม ส.ว. 250 คน วันนี้ ผมคิดว่าได้ทลายเหตุผลการมีอยู่ของ ส.ว.เป็นที่เรียบร้อย การที่บอกว่า ส.ว. มีอยู่เพื่อการตรวจสอบรัฐบาล ปรากฏว่าไม่มี ทุกคนลงมติไปทางเดียวกันหมด บางคนพูดอวยเชียร์รัฐบาลทุกวัน ดังนั้น เหตุผลของการมี ส.ว. ได้ถูกทำลายโดย ส.ว. ชุดนี้เป็นที่เรียบร้อย นี่ยิ่งกว่าสภาผัวเมีย และที่สำคัญกว่านั้น ดำรงตำแหน่ง 5 ปี ตกรายจ่ายภาษีประชาชนกว่าคนละ 1 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม การไม่มีวุฒิสภาเลย มีแค่สภาเดียว หลายคนก็ห่วงว่าเสียงข้างมากยจะยึดได้หมดหรือไม่ หรือถ้าจะมีองค์กรอิสระจะมาจากไหน เรื่องนี้ต้องคิดออกแบบ เช่น ถ้าต้องการผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในสภาก็คือต้องมี กมธ.วิสามัญมาร่วมทำหน้าที่ หรือ ในการเลือกองค์กรอิสระ ก็คิดว่า ส.ส. ก็ต้องมีส่วนร่วม แต่ถ้ากลัวจะเหมาหมด ก็ต้องเปลี่ยนมติให้สูงขึ้น เช่น 2ใน 3 หรือ 3 ใน 4 หรือปรับคุณสมบัติให้สูงขึ้น หรือไม่ให้ ส.ส.เลือกทั้งหมด แต่ให้ศาลมีส่วนร่วมเลือกด้วย เป็นต้น มีอีกหลายหนทางที่จะอธิบายได้ว่า แม้ไม่มีวุฒิสภาแล้ว ระบบตรวจสอบก็ยังทำงานได้อยู่ วันนี้ เราต้องมองถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประเทศไทยจะมีเพียงสภาเดียว" นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ขนาดที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรวบรวมเสียงเกิน 250 ได้แล้ว ตนเคยคิดว่าอาจมี ส.ว.แบ่งเสียงมาแสดงจุดยืนของตัวเองด้วยการงดออกเสียง แต่กลายเป็นว่า มาครบทั้ง 249 คนตรงเป๊ะ มีเพียงประธานวุฒิคนเดียวที่ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาซึ่งงดออกเสียง ทั้งนี้ พรรคการเมืองที่รณรงค์หาเสียงว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เอากติกาที่กำหนดให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ได้ทำให้เกิดการบิดผันพฤติกรรมนักการเมือง เพราะถ้าไม่มีกฎหมายข้อนี้ พรรคการเมืองก็จะยืนยันแบบเดิมตามหาเสียง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้ รวมกันเท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะพรรคการเมืองใหญ่สุดคือ พรรค ส.ว. เหตุนี้ ทำให้นักการเมือง พรรคการเมืองเปลี่ยนพฤติกรรรมตัวเอง ให้เขาเปลี่ยนไปร่วมรัฐบาล ดังนั้น การอ้างว่าได้เสียง ส.ส.ครบ โดยไม่ต้องมี ส.ว.ก็ชนะอยู่ดี อย่างนี้ไม่ถูก ลองสมมติว่าลบมาตรา 272 ออกไปเรื่องให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี พฤติกรรมนักการเมืองในการโหวตนายกต้องเปลี่ยนแน่นอน


"สถานการณ์ตอนนี้ คือ อำนาจ ส.ว. ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากการแต่งตั้ง ขึ้นมาอยู่เคียงคู่กับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.5 อย่าง ในตอนนี้ คือ 1. เลือกนายกรัฐมนตรี 2. กำกับการปฏิรูปประเทศ 3 ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นผู้ออกใบอนุญาต 4.ร่าง พ.ร.บ. ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศต้องให้ประชุมร่วม 2 สภา ซึ่งทุกร่างกฎหมดายแทบเข้าได้หมด และ 5. อำนาจในการเลือกคนเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งจะรับประกันอะไรได้อีกว่าองค์กรอิสระจะเป็นกลาง ปลอดการเมืองอย่างแท้จริง เพราะวุฒิสภาชุดนี้มาจาก คสช. เลือกคนไปดำรงตำแหน่งเต็มไปหมด จึงไม่แปลกที่จะเห็นการวินิจฉัยอย่างเรื่องการยืมใช้คงรูป เป็นต้น ฝั่งซีกผู้มีอำนาจรอดหมด แต่ฝ่ายตรงข้ามไม่รอด ทั้งหมดนี้มันเหมือนคลับใหญ่ๆ คลับหนึ่ง แล้วก็ดึงคนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่เสียหายมาก จากการรัฐประหารปี 2557 คือ เราปล่อยให้คลับใหญ่เรื่อยๆ มีการอุปถัมภ์ค้ำชู ส.ว.กลายเป็นพื้นที่หางานให้เพื่อนทำ ไม่แปลกที่จะมีทหาร ตำรวจ เป็น ส.ว. เต็มไปหมด" นายปิยบุตร กล่าว