"ไอติม" หนุนยกเลิกวุฒิสภาเหลือสภาเดียว

2020-06-06 22:55:40

"ไอติม" หนุนยกเลิกวุฒิสภาเหลือสภาเดียว

Advertisement

"ไอติม" หนุนยกเลิกวุฒิสภาเหลือสภาเดียว แนะเปิดกว้างข้อมูล เพิ่มอำนาจ ปชช. ร่วมถ่วงดุลอำนาจ

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ร่วมเสวนา "เวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย" โดยเพจ New Consensus Thailand จัดขึ้นในหัวข้อ "ส.ว.ไทย อย่างไรดี ?" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ตนอยากตั้งเป็นโจทย์ขึ้นมาก่อนอันดับแรก คือเราต้องการเห็นประเทศยึดคุณค่าหลักอะไรบ้าง การออกแบบโครงสร้างประเทศทั้งหมด คุณค่าหลักที่เราอยากให้ประเทศเรายึดมั่นคืออะไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่ามี 3 ข้อ คือ 1.กติกาที่เป็นกลางในรัฐธรรมนูญ ไม่ควรถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ 2.ความเป็นประชาธิปไตย และ 3.ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการรับมือกับโลกอนาคต ซึ่งพอมาประเมิน ส.ว.ไทยในปัจจุบัน ประการแรกไม่ผ่านหลักการประชาธิปไตย ตนฟันธงได้เลยว่าการออกแบบโครงสร้างวุฒิสภาขัดหลักสมการประชาธิปไตย สมการแรก ขัดกับหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน การให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ทำให้ไม่สอดคล้องกับหลักนั้น ส.ส.500 คนมาจากประชาชน 38 ล้านคน นั่นหมายความว่าประชาชนหนึ่งคนมีอำนาจในการกำหนดนายกเท่ากัน 0.00017 เปอร์เซ็นต์ แต่วุฒิสภา 250 คนถูกแต้งตั้งโดยคณะกรรมการแต่งตั้ง 10 คน เท่ากับว่ากรรมกรหนึ่งคนมีอำนาจในการกำหนดนายก 3.3 เปอร์เซ็นต์  นั่นหมายความว่าในกติกาปัจจุบันคณะกรรมการสรรหามีอำนาจเท่ากับประชาชน 2 ล้านคน

"สมการที่สอง ขัดกับหลักการว่าอำนาจและที่มาต้องเท่ากัน แต่วุฒิสภาไทยมีความไม่เท่าเทียมกัน ส.ว.มีอำนาจเยอะมาก มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและมีอำนาจหลายๆอย่างอีก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งองค์กรอิสระ ยับยั้งกฎหมาย ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกว่ามีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากหมดรัฐธรรมนูญปี 2540 มา แต่ด้านที่มาของ ส.ว.กลับมีความถดถอย เราใช้ระบบการแต่งตั้งที่มีปัญหาเยอะมาก เมื่อมาดูองค์ประกอบปัจจุบัน 40% ของ ส.ว.เป็นทหาร-ตำรวจ ยิ่งไปกว่านั้นกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาคัดเลือก ส.ว.มี 10 คน 6 คนมาเป็น ส.ว.เอง อีก 3 คนคัดเลือกพี่น้องเข้ามา มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาอีก การแต่งตั้งจึงไม่ได้นำมาสู่การสร้างความหลากหลายหรือป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนเลยแม้แต่น้อย" นายพริษฐ์ กล่าว


นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่าตนเห็นว่าทางออกจากปัญหานี้มี 3 วิธี คือ 1. ลดอำนาจของ ส.ว.ลง แบบ House of Lords ที่อังกฤษ ซึ่งมีอำนาจน้อยมากแม้จะมาจากการแต่งตั้ง ทำได้มากสุดคือยับยั้งกฎหมายได้ 1 ปี แต่ไม่สามารถปัดตกได้เลย ยิ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับงบประมาณแล้ว จะสามารถยับยั้งได้แค่ 1 เดือนเท่านั้น 2. มีอำนาจเยอะแต่เราก็ทำให้มาจากการเลือกตั้ง คล้ายกับสหรัฐอเมริกา แต่มีวิธีการออกแบบให้ไม่ออกมาหน้าตาเหมือน ส.ส. ด้วยความที่สหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธรัฐ ก็จะออกแบบว่า 100 วุฒิสภาจะมาจาก 1 คนต่อรัฐ มีการเลือกไม่พร้อมกับ ส.ส. และแบ่งการเลือกเป็นรอบๆไปเพื่อไม่ให้ใครถืออำนาจได้นาน หรือ 3. ไม่ต้องมีเลย

"แล้วทางเลือกไหนที่เหมาะกับประเทศไทย ถ้าเราอยากหาต้นแบบ เอาเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นรัฐเดี่ยวแบบประเทศไทย เราจะเหลือ 31 ประเทศ ในที่นี้ 20 ประเทศใช้ระบบสภาเดี่ยว 2 ประเทศใช้สภาคู่ที่มี ส.ว.มาจากเลือกตั้ง อีก 2 ประเทศใช้ระบบ ส.ว.แต่งตั้ง เราจะเห็นว่ากระแสหลักของโลกมาทางสภาเดี่ยวมากขึ้น นี่เป็นกรอบที่เราวางได้ ถ้าเราเห็นว่ารูปแบบวุฒิสภาไทยปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ เราจะสามารถมาออกแบบได้ว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า สุดท้ายตนมีเอนเอียงไปทางการมีสภาเดียว ด้วยเหตุผลส 3 ประการ คือ 1.โลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะการออกกฎหมายหรือยกเลิกกฎหมายมีความจำเป็นยิ่งขึ้น การมีสภาเดียวจะสามารถลดเวลาพิจาณากฎหมายลง ทำให้รัฐมีความคล่องตัวมากขึ้น 2.งบประมาณที่เราสามารถประหยัดลงได้ และ 3. การมี ส.ว.ต่อไปจะนำไปสู่หลายปัญหาที่แก้ไขค่อนข้างยาก ถ้าแต่งตั้งแต่ให้อำนาจน้อย แล้วเราจะมั่นใจได้ย่างไรว่าเราจะได้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาจริงๆ หรือถ้ามีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งแต่อำนาจสูง ก็มีปัญหาอีกว่าจะสร้างระบบเลือกตั้งอย่างไรให้ไม่ซ้ำกับ ส.ว.หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

"เหตุผลสุดท้ายที่ผมคิดว่าสภาเดี่ยวอาจจะเหมาะสมกับโลกปัจจุบัน คือ พอเรามานั่งคิดดูว่าสิ่งที่เราคาดหวังให้ ส.ว. ทำมีอะไรบ้าง จริงๆ มันอาจจะมีกลไกอื่นที่อาจจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่า ถ้าเราคาดหวังว่า ส.ว.มีหน้าที่มาให้ความเชี่ยวชาญกับสภาผู้แทนราษฎร ก็สามารถเข้ามาได้ในกรรมาธิการ ถ้าเราบอกว่า ส.ว.มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจังหวัดที่ประชากรอาจจะไม่เยอะ ผมก็มองว่าถ้าเราอยากให้อำนาจจังหวัดจัดการตนเอง การกระจายอำนาจน่าจะเป็นทางออกที่น่าดีกว่า ถ้าเราบอกว่าเราอยากมี ส.ว.ไว้เพื่อมาแต่งตั้งกรรมการขององค์กรอิสระ ผมมองว่าหน้าที่นี้อาจจะอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วเราก็วางกฎเกณฑ์ไว้เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง เราอาจจะไปถึงขั้นที่ว่ากรรมการองค์กรอิสระทุกคนต้องได้รับเสียงข้างมากจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สุดท้ายถ้าเราบอกว่าอยากมี ส.ว.ไว้เพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ตนคิดว่าการเปิดกว้างของข้อมูลงบประมาณ การเปิดกว้างของข้อมูลภาครัฐแล้วติดอาวุธให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจจะเป็นวิธีการที่สอดคล้องกับเทคโนโลยียุคใหม่และโลกรูปแบบใหม่มากกว่า เพราะฉะนั้น ตนเลยมองว่าถ้าเรากังวลว่าไม่มี ส.ว.แล้วจะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ตนคิดว่าสิ่งเดียวที่อันตรายกว่าสิ่งนั้นคือการที่เรามี ส.ว.ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อคล้อยตามฝ่ายบริหาร เพราะฉะนั้น ด้วยหลายประการแล้วคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะพิจารณาเรื่องของสภาเดี่ยว