โควิดใหม่เกาะคนไทยจาก ตปท. WHO กลับลำใช้หน้ากากผ้าสู้ไวรัส

2020-06-06 22:20:33

โควิดใหม่เกาะคนไทยจาก ตปท. WHO กลับลำใช้หน้ากากผ้าสู้ไวรัส

Advertisement

รายงานการติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 6 มิ.ย.63 มาแนวเดียวกับช่วงสิบกว่าวันที่ผ่านมา เป็นคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ มีเพียง 2 ราย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine)

โดยคนแรกมาจากประเทศคูเวต เป็นพนักงานบริษัทเอกชน อยู่ใน State quarantine พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 4 มิ.ย.63 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร รายที่สองจากประเทศรัสเซีย เป็นนักศึกษา อายุ 22 ปี อยู่ใน State quarantine พบจากการตรวจเชื้อครั้งที่ 2 ส่งเข้ารักษาที่ รพ. ใน จ.ชลบุรี


ทั้งสองเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ พ.ญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ระยะหลังผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการป่วย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและนักเรียนนักศึกษา ทำให้เห็นว่า ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงโดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาวอาจเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ

จำนวนผู้ป่วยสะสม เพิ่มเป็น 3,104 ราย ที่หายป่วยรวม 2,971 รายหรือ 95.72%ของทั้งหมด รักษาตัวในโรงพยาบาล 75 ราย หรือ2.42% ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ยอดการเสียชีวิตคงที่ 58 ราย


ทางด้าน ศ. ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยการวิเคราะห์การระบาดของโรคโควิค-19 ทั่วโลกว่า แม้ในประเทศไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 12 วันแล้ว ปัจจุบันการติดเชื้อในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาคงตัว และค่อยๆ เริ่มลดลงในหลายประเทศ แต่ศูนย์กลางการระบาดได้ขยับ ไปในบริเวณที่เดิมพบผู้ติดเชื้อน้อย แต่เป็นภูมิภาคที่มีประชากรอยู่มาก ผู้ติดเชื้อใหม่ในระยะนี้ มาจากสองภูมิภาคหลัก คือ ทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง (ลาตินอเมริกา) รวมทั้งหมู่เกาะคาริบเบียน อีกกลุ่ม อยู่ในเอเชียใต้และตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ยังพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปแอฟริกา ที่แม้จะยังไม่มาก แต่แอฟริกามีประชากรมาก และระบบการแพทย์ การสาธารณสุขยังไม่ดีนัก มีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางการระบาดในช่วงต่อไปได้ ประเทศที่ต้องจับตา


มอง ในช่วงนี้ ได้แก่ บราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู โคลัมเบีย รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอาระเบียและประเทศต่าง ๆในตะวันออกกลาง รวมทั้งในแอฟริกาใต้ ลิเบีย อูกันดา โมซัมบิก และเฮติ


ส่วนในอาเซียน เป็นภูมิภาคที่ควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มที่ยังพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง ในระดับใกล้เคียงกับเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์, กลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ภายในประเทศลดลงและอยู่ในระดับที่ควบคุมภายในประเทศได้แล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย, และกลุ่มที่มีผู้ติดเชื้อน้อย หรือข้อมูลยังไม่มาก ได้แก่ เวียดนาม บรูไน เมียนมา กัมพูชา และลาว ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ช่วงนี้เกือบทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศหรืออยู่ในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติที่ได้รับการควบคุม




การติดเชื้อโควิด-19 ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 64 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศถึง 98.44 ( 63 ราย) มีเพียง 1 ราย ที่ติดเชื้อภายในประเทศ โดยวันนี้ เป็นวันที่ไม่มีการติดเชื้อจากในประเทศติดต่อกัน 12 วันแล้ว

แต่ก็ไม่มีสิ่งใดบอกได้ว่า ผู้คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในชุมชน สถานที่ต่าง ๆ จะไม่มีเชื้อที่ไม่แสดงอาการ การไปร่วมกิจกรรม ใช้บริการในกิจการใด ๆ จึงจำเป็นต้องระวังตัว การเว้นระยะห่าง การล้างมือและสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือเมื่ออยู่ในที่ชุมชน

การที่มีประชาชนรวมตัวกันหนาแน่นในพื้นที่ชายหาดบางแสน สร้างความวิตกกับหลายฝ่ายนั้น ทำให้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับไปยังจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะชายหาด ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมิให้แออัด หรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น

โดยสั่งการให้ทุกจังหวัด จัดระเบียบสังคมในพื้นที่สาธารณะริมบาทวิถีและพื้นที่ชายหาด ให้จัดสัดส่วนการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม ให้ค้าขายอย่างถูกสุขลักษณะ ผู้สัญจรเดินไปมาใช้พื้นที่ได้สะดวกสบาย ปลอดภัย ไม่กีดขวางการจราจร ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ ในพื้นที่ชายหาด ให้แบ่งการใช้พื้นที่เป็นสัดส่วน ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ผู้ประกอบการต่าง ๆ เช่น การขายอาหาร ให้เช่าเก้าอี้ หรือเครื่องเล่นต่าง ๆ ประกอบการได้ตามมาตรการที่กำหนด แต่การจัดระเบียบให้พิจารณามิติด้านเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบจากการจัดระเบียบ

กระนั้นก็ดี การเปิดพื้นที่สาธารณะในกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมไม่พ้นการที่จะมีคนไปร่วมจำนวนมาก การรักษาระยะห่าง อาจทำได้ไม่เต็มที่ การสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย น่าจะเป็นทางป้องกันที่ดี ทั้งนี้ ล่าสุด นพ.เทดรอส แอดนาฮอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ-WHO ) แถลงว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ ควรรณรงค์อย่างจริงจังให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโรค และบริเวณที่การรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นไปได้ยาก เช่นเมื่อใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ การไปจับจ่ายซื้อของ และการอยู่ในสถานที่ปิดหรือต้องอยู่ภายในสภาพแวดล้อมแออัดที่ไม่มีอาการถ่ายเทสะดวกเป็นเวลานาน


การแถลงดังกล่าว นพ.เทดรอส ให้เหตุผลว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ยังเป็นที่ถกเถียงในวงการการแพทย์โลก ตั้งแต่เริ่มพบผู้ป่วยในจีน เมื่อปลายปีที่แล้ว ในประเด็น "ผู้ป่วยหรือคนสุขภาพดีที่ควรสวมหน้ากาก"... โดยองค์การอนามัยโลกออกคำแนะนำช่วงก่อนหน้านี้ว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไม่ใช่สิ่งจําเป็น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีประโยชน์ในการป้องกันโรคสําหรับผู้ที่ไม่ได้ป่วย

ในประเทศไทย สถานการณ์ของโควิด-19 ออกมาในแนวดีวันดีคืน การผ่อนคลาย ระยะที่ 4 คงชัดเจนในสัปดาห์หน้า แต่ที่ไม่มีใครรู้ก็คือ ยังจะมีผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการแฝงอยู่ที่ใด และจะทำให้เกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้อีกหรือไม่ เมื่อไร

การป้องกันทุกวิธี ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าการผ่อนคลายทำให้ผู้คนออกสู่สังคมที่สาธารณะมากขึ้น

หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยจึงต้องอยู่คู่ใบหน้าคนไทยต่อไป

อีกนาน!!!