"กล้านรงค์"ประชุมรวมกับผู้บริหารองค์กรอิสระ พร้อมตรวจสอบการใช้เงินกู้แก้ปัญหาโควิด-19
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)กิจการวุฒิสภา เปิดเผยว่า กมธ.ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรอิสระ ประกอบด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง). คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเสนอข้อสังเกตเกี่ยวกับพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 3 ฉบับ โดยวุฒิสภามีข้อเสนอ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้นำเงินกู้มาแก้ปัญหาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ 2.ไม่ให้มีการทุจริต โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจเป็นช่องว่างได้ 3.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 4.การประเมินผลสัมฤทธิ์โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ในส่วนของ กมธ.มีความเป็นห่วงเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องยกเว้นระเบียบต่างๆและการขัดกันแห่งประโยชน์ การยักยอกทรัพย์สิน รวมไปถึงการรับผลประโยชน์ ซึ่ง กมธ.ได้แจ้งไปยังองค์กรอิสระทุกองค์กร ที่สำคัญต้องมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเปิดเผยโครงการและกระบวนการร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระที่ทำได้รวดเร็ว และประชาชนร่วมกันติดตามตรวจสอบ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่ละองค์กรได้แจ้งต่อ กมธ.แล้วว่าได้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว เช่น การจ่ายเงินเยียวยาและประสิทธิผลในการทำงานของรัฐบาล เงินกู้ล้านล้านบาทนั้นองค์กรอิสระได้ดูแลและตรวจสอบให้ประชาชนอุ่นใจว่ารัฐบาลมีความตั้งใจว่าจะใช้เงินแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง และผลประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. กล่าวว่า เวลาลงไปปฏิบัติจริงอาจมีความเสี่ยงและเกิดการรั่วไหล ซึ่งป.ป.ช.มีเครื่องมือในการทำงาน 3 เครื่องมือ ได้แก่ 1.การเสนอมาตรการต่อรัฐบาล โดยป.ป.ช.ได้ศึกษาแผนงานและโครงการต่างๆแล้วและเตรียมจะเสนอไปยัง ครม.อันจะสอดคล้องกับเรื่องการประเมินความเสี่ยงทางนโยบาย 2.ช่วงการระบาดโควิด-1 ป.ป.ช.ได้ปักหมุดพื้นที่เสี่ยงโดยอาศัยกลไกของอาสาสมัครรวบรวมข้อมูลและส่งข้อมูลมาให้ป.ป.ช.ดำเนินการ 3.การใช้อำนาจตาม มาตรา 48 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่สามารถดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วเพื่อให้เห็นผลเป็นการเฉพาะ ป.ป.ช.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล 10 ล้านเพื่อเป็นกองทุนสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เมื่อถามว่า กองทุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล แต่ป.ป.ช.ต้องเข้าไปตรวจสอบจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ นายวรวิทย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้ามาทำงานกับป.ป.ช.และสนับสนุนมาตรการคุ้มครองพยานต่างๆที่ต้องใช้เงิน และคุ้มครองการปฏิบัติงานของป.ป.ช.และเจ้าหน้าที่ และสนับสนุนการทำงานให้สัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายที่รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณตามกฎหมาย ยืนยันว่าการทำงานป.ป.ช.จะเป็นไปตามหน้าที่และกฎหมายภายใต้ข้อเท็จจริงและพยานของกฎหมาย
ด้านนายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า สตง.จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องการใช้เงินให้เกิดความโปร่งใส่ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่เริ่มมีโควิด-19 สตง.ได้ส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างด้วยความรวดเร็ว เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งหลายหน่วยงานมีความกังวลในเรื่องความถูกต้อง แต่ สตง.ได้ให้คำปรึกษาให้แก่หน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานทำได้อย่างถูกต้อง
เมื่อถามว่า ข้อห่วงใยจากสภาฯและวุฒิสภาเกี่ยวกับเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนจะอยู่ในขอบเขตการตรวจสอบองค์กรอิสระหรือไม่ นายประจักษ์ กล่าวว่า พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 เป็นเรื่องที่อยู่ในการควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งสตง.มีสถานะเป็นผู้สอบบัญชีของ ธปท. ดังนั้น สตง.จะเข้ามาตรวจสอบในประเด็นนี้ด้วยว่า ธปท.ได้ดำเนินการตรงเป้าหมายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจะมีข้อท้วงติงจาก สตง.ต่อไป
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า เราไม่ได้มุ่งตรวจสอบเพื่อจับผิดแต่ จะเน้นการหาวิธีที่ทำให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เพื่อเป็นต้นทางของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต