บราซิล-เม็กซิโกอ่วม ทำสถิติติดเชื้อโควิด-19 วันเดียเกิน 1,000

2020-06-04 18:00:59

บราซิล-เม็กซิโกอ่วม ทำสถิติติดเชื้อโควิด-19 วันเดียเกิน 1,000

Advertisement


บราซิลและเม็กซิโก รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 รายวัน ทำสถิติสูงสุด ขณะที่รัฐบาลในลาตินอเมริกา ต้องพยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยคำสั่งล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวครั้งใหม่ ส่วนประเทศในยุโรป ก็ขยับเข้าใกล้การหลุดพ้นจากความเสียหายที่เกิดจากการระบาดของไวรัสตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ด้วยการเปิดพรมแดนใหม่ แต่อเมริกาใต้และอเมริกากลาง กลับกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งใหม่ของวิกฤตไวรัส ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้วอย่างน้อย 386,000 คน และติดเชื้อแล้ว 6.5 ล้านคน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เม็กซิโกประกาศผู้เสียชีวิตจากไวรัสในวันเดียวสูงกว่า 1,000 คนเป็นครั้งแรก รวมผู้เสียชีวิต 11,729 คน และติดเชื้อ 101,238 คน ขณะเดียวกัน บราซิลก็มีผู้เสียชีวิตรายวันในวันเดียวสูงเป็นสถิติเช่นกัน 1,349 คน รวมทั่วประเทศ 32,548 คน และติดเชื้อ 584,016 คน ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร ยังคงคัดค้านมาตรการล็อคดาวน์หัวชนฝา แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นฝ่าฝืน ไม่เชื่อฟังเขา และด้วยวิกฤตการระบาดของไวรัสที่ดำดิ่งเลวร้ายในรัฐบาเอีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ ต้องประกาศเคอร์ฟิวในวันพุธ ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถาน



นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดความกังวลในชิลี ซึ่งรัฐบาลแถลงขยายมาตรการปิดกรุงซานเตียโก เมืองหลวงที่ยังคับใช้มาแล้ว 3 สัปดาห์ หลังผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งสูงเป็นสถิติใหม่ และยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงขนาดความรุนแรงของวิกฤตไวรัสในลาตินอเมริกา เมื่อสหภาพผู้สื่อข่าวในเปรู แถลงว่า มีนักข่าวอย่างน้อย 20 คน เสียชีวิตจากไวรัส

การระบาดของไวรัสในเปรู รุนแรงมาก ซึ่งขณะนี้ ทำให้ถังออกซิเจนที่จำเป็นในโรงพยาบาลต่าง ๆ เริ่มขาดแคลนไม่เพียงพอกับความต้องการแล้ว มีประชาชนจำนวนมากเข้าแถวรอซื้อถังออกซิเจนเพื่อให้คนที่พวกเขารัก



เลดี ซาวัลญา ในกรุงลิมา เมืองหลวงเปรู กล่าวว่า พวกเราไม่พบถังออกซิเจนเลย เธอมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของมารดามากกว่าสิ่งอื่นใด เพราะมารดาต้องการออกซิเจนมาก และโรงพยาบาลก็มีไม่เพียงพอ

บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้เตือนแล้วว่า ยังคงจำเป็นที่ต้องควบคุมการเดินทางทั่วโลก จนกว่าจะมีการค้นพบและพัฒนาวัคซีน และความพยายามในการพัฒนาวัคซีนก็กำลังคืบหน้าไปมาก ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย

อังกฤษเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งสำคัญในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น โดยมีกว่า 50 ประเทศ และเอกชนที่ทรงอิทธิพล เช่นบิล เกตส์ มหาเศรษฐีเจ้าของไมโครซอฟต์ เข้าร่วมในการประชุมด้วย เพื่อระดับเงินทุนสนับสนุน กาวี หรือ GAVI (Global Alliance for Vaccines and Immunization ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยมีสมาชิกอย่างเช่น UNICEF มูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ และองค์การอนามัยโลก เป็นพันธมิตร

กาวี และหุ้นส่วน จะเริ่มระดมเงินทุนเพื่อซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ, เพิ่มกำลังการผลิตและสนับสนุนการส่งให้ประเทศกำลังพัฒนา



การทดลองวัคซีน ซึ่งกำลังพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะเริ่มใช้กับอาสาสมัครสำนักงานสาธารณสุข 2,000 คนในบราซิลในสัปดาห์หน้า ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก หรือฮู ก็แถลงในวันพุธว่า จะรื้อฟื้นการทดลองยา “ไฮดรอกซีคลอโรควิน” เป็นยารักษาโควิด-19 หลังจากมีความสงสัยในการศึกษาครั้งแรก ซึ่งกระตุ้นให้ต้องระงับการทดลองไว้ก่อนชั่วคราว เนื่องจากวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีโบลโซนาโร ของบราซิล เคยยกย่องชื่นชมยาตัวนี้ ว่ามีสรรพคุณในการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทางสหรัฐก็ได้ส่งยาตัวนี้ไปให้บราซิล 2 ล้านโดสในช่วงต้นสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่แยกกันต่างหาก ที่เผยแพร่โดยนิตยสารการแพทย์ นิว อิงแลนด์ เจอร์นัล ออฟ เมดิซึน เมื่อวันพุธ ระบุว่า การรับประทานยาตัวนี้ทันที หลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในแนวทางที่น่าพอใจ

รัฐบาลหลายประเทศต้องเสี่ยงเปิดธุรกิจ หลังเศรษฐกิจได้รับความเสียหายจากมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัส แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน อิตาลีเปิดพรมแดนอีกครั้งต้อนรับนักท่องเที่ยวในยุโรปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ด้วยความหวังว่าจะชุบชีวิตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ดูเหมือนจะยังห่างไกล



มิมโม เบอร์กิโอ เจ้าของร้านกาแฟใกล้สนามกีฬาโบราณ โคลอสเซียม สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในกรุงโรม กล่าวว่า เขาคิดว่าคงจะยังไม่เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวจนกว่าจะถึงสิ้นเดือนสิงหาคม หรือไม่ก็อาจเป็นเดือนกันยายน เขาย้ำด้วยว่า ใครจะกล้ามาตอนนี้

ขณะเดียวกัน สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มีการระบาดของไวรัสหนักที่สุดในโลก โดยมีผู้ติดเชื้อแล้ว 1.85 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 107,000 คน อีกทั้งยังมีความหวาดกลัวว่า คลื่นการประท้วงในปัจจุบันในสหรัฐเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวและการกระทำอันป่าเถื่อนของตำรวจ อาจจุดชนวนให้ไวรัสระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น