โควิดเสียชีวิตอีก 1 รุกตรวจแสนรายกลุ่มเสี่ยง

2020-06-02 21:30:31

โควิดเสียชีวิตอีก 1   รุกตรวจแสนรายกลุ่มเสี่ยง

Advertisement



วันที่สองของการผ่อนคลายระยะที่ 3 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หรือโรคโควิด-19 เกริ่นก่อนการแถลงข่าวว่า 1 วันที่ผ่านมา ประเมินผลการดำเนินมาตรการมีคะแนนดี ถึงดีมาก ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี


คนที่ออกนอกบ้านไปกิจธุระต่าง ๆ ก็คงเห็นด้วยจากบรรยากาศ สภาพการจราจร และแสงสีที่สาดออกจากศูนย์การค้ายามค่ำคืน คึกคักเชียวแหละ


โดยรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อก็มีเพียง 1 ราย ยอดสะสมเป็น 3,083 ราย หายป่วย 1 รวมผู้ที่หายแล้ว 2,966 ราย ที่ยังรักษาในโรงพยาบาลมี 59 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ยอดรวมผู้เสียชีวิตจึงเพิ่มเป็น 58 ราย




เป็นรายงานที่ต้องแสดงความเสียใจ ในวันที่คนส่วนหนึ่งยินดีกับการผ่อนคลาย


การเสียชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ ต้องสืบสวนย้อนความ พบเป็นชายไทยวัย 80 ปี มีโรคประจำตัว หอบหืด เริ่มเข้ารักษาตัวที่ รพ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส วันที่ 28 เม.ย.63 เพื่อผ่าตัดสะโพก อาการตอนนั้นไม่เข้าข่ายจะต้องตรวจสอบหาเชื้อโควิด แต่วันที่ 1-2 พ.ค.63 เข้าพักฟื้นในหอผู้ป่วยพิเศษรวม และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าในหอผู้ป่วยเดียวกัน จึงเก็บตัวอย่างและพบเชื้อ


บุตรสาว บุตรเขยที่มาเฝ้าไข้ก็พลอยติดไปด้วย จากนั้นวันที่ 9 พ.ค.63 อาการไม่ค่อยดี ออกซิเจนลดลง มีเสียงผิดปกติในปอด สงสัยปอดอักเสบ ส่งต่อโรงพยาบาลธราธิวาสราชนครินทร์ แพทย์จ่ายยาต้านไวรัสและได้รับพลาสมาเป็นระยะ วันที่ 25 พ.ค.63 อาการแย่ลง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เสียชีวิตวันที่ 1 มิ.ย.63 ด้วยสาเหตุปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19


เส้นทางของผู้ป่วยรายนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่า โรงพยาบาลเป็นพื้นที่เสี่ยง โอกาสจะสัมผัสและรับเชื้อจากผู้ป่วยรายก่อนหน้า มีได้ และยังทำให้แพทย์ และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 26 คน ผู้ป่วยในโรงพยาบาล 3 ญาติผู้ป่วยอีก 66 รวม 95 คน ต้องถูกกักตัวเฝ้าระวังโรคอยู่ 1 เดือน  ทุกรายปกติ




ไม่จำเป็นจริง ๆ อย่าเพิ่งแวะโรงพยาบาล เพราะถึงจะเป็นคนไข้ขาประจำ คุณหมอก็ไม่ค่อยนัด หากมีธุระอันมิอาจหลีกเลี่ยง ก็ต้องป้องกันการติดเชื้อแบบจัดเต็ม


ไม่ต้องเกรงใจใคร เพราะเวลาเจอเชื้อเขาไม่ได้ช่วยป่วยแทน


สำหรับผู้ติดเชื้อใหม่ที่พบ ยังคงมาแนวเดียวกับรายก่อน ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ เป็นนักศึกษาไทย วัย 32 ปี กลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เดินทางเข้ามาทางด่านปาดังเบซาร์ วันที่ 25 พ.ค.63 เข้าระบบเฝ้าระวังในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ ตรวจครั้งแรกไม่พบ ถัดมาอีก 5 วัน มีไข้ น้ำมูก วันที่ 31 พ.ค.63 ตรวจใหม่ก็พบเชื้อโควิด-19 ส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลสงขลา


กลุ่มการเดินทางแบบเดียวกัน คือกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย ผ่านประเทศมาเลเซียเข้าไทย ยอดรวมทั้งหมด 39 ราย ติดเชื้อแล้ว 8 คิดเป็น20.51% หรือ 1 ใน 5


ถ้าเจาะจงเฉพาะที่มีต้นทางจากซาอุดิอาระเบีย มี 79 คน พบเชื้อมีมาแล้ว 9 รวมรายนี้ เป็น 10





ไม่ธรรมดานะ


ข้อมูลของผู้ป่วยทุกรายการที่บันทึกไว้ มีประโยชน์แก่การจัดหมวดหมู่ สำหรับการวิจัย คาดการณ์อนาคตและการป้องกัน วิธีจัดการปัญหาโรคระบาดแบบคุณหมอนั้น ต่อให้บรรยากาศและจำนวนผู้ป่วยจะดีแค่ไหนก็ไม่วางใจง่าย ๆ ต้องมีระบบตรวจสอบซ้ำป้องกันความยินดีที่มีอาจมีการเผอเรอ


อย่างที่กังวลกันว่าการติดเชื้ออาจโผล่ขึ้นในช่วงผ่อนปรน คุณหมอโฆษกบอกว่ามีการประชุมตรวจสอบกันตลอด เอาตัวเลขมาเทียบเคียงทั้งรายวัน รายสัปดาห์ ขณะนี้การเฝ้าระวังโรคและการค้นหาในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง ตั้งเป้าเล็งไว้ 100,000 ราย เริ่มทำทั่วประเทศมาตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.63 ถึงตอนนี้ได้ไป 32,500 กว่ารายหรือ 32.56%แล้ว ยังไม่เจอ ก็จะหาต่อไป


กลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ ผู้มีอาชีพพบปะผู้คนจำนวนมาก และกลุ่มอื่น ๆ ที่คณะกรรามการโรคติดต่อจังหวัดจะพิจารณาประกาศ คุณหมอบอกว่า ใครอยู่ในกลุ่มที่ได้รับคำเชิญ ก็ขอให้ ให้ความร่วมมือ เพื่อจะมั่นใจว่าสังคมไทยปลอดเชื้อ


คุณก็อาจเป็นอีกคนที่ได้รับเชิญ


นอกจากนี้ คุณหมอยังสนใจฟังความรอบข้าง การสำรวจความคิดเห็น ซึ่งทางนิดาโพล ไปสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมหลังการผ่อนปรน ปรากฏว่า 62%หรือ 2ใน3 ยังไม่ออกไปไหนเลย ยังระวังตัวเองอยู่กับ พวกไปห้างสรรพสินค้า มี 24.8% หรือราว ๆ 1ใน4 ไปตัดผม 11% เข้าร้านค้าปลีก ส่ง 8% นั่งกินอาหารที่ร้าน 6.2% คลินิกเสริมความงามแค่ 0.72% โรงยิมน้อยสุด 0.48%




แต่พอถามถึงคำว่าการ์ดตก 6.12%บอกตกมาก 32.99% เห็นว่าค่อนข้างตก มี 27.6% มองว่าไม่ค่อยตก และ 29.18%เชื่อว่าไม่ตกเลย


ส่วนการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)และสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเองของ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ และผู้ตอบทางโทรศัพท์ ปรากฏว่า อสม. มีคะแนนการป้องกันตนเองดีที่สุด


แต่พอถามการป้องกันตนเองเทียบกับเดือน เม.ย. กลุ่ม อสม.ยอมรับว่าทำน้อยลง 6.6% กลุ่มตอบออนไลน์ บอกก็น้อยลง 13% กลุ่มที่ถูกถามทางโทรศัพท์ เสียงอ่อยๆ บอกว่าทำน้อยลง 11%



คณะสำรวจสรุปว่า การ์ดตกไปเยอะ แบบนี้แหละที่หมอพูดบ่อย ๆ ว่า วางใจไม่ได้  ขนาดว่าเข้ม แล้วนะนี่