“จุรินทร์ “ ช่วยเกษตรกรส่ง "ไชยยศ" มอบเช็คต่อกรมบังคับคดีปลดหนี้แทนเกษตกร อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) มอบหมายให้ นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมอบเช็คต่อกรมบังคับคดีเพื่อปลดหนี้แทนเกษตกร ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งจะถูกบังคับคดีขายทรัพย์ทอดตลาดในวันที่ 2 มิ.ย.2563 โดยการมอบเช็คต่อกรมบังคับคดีตามกฎหมายทันเวลาก่อนการบังคับคดีขายทอดตลาด
นายไชยยศ กล่าวว่า นายจุรินทร์มีความเป็นห่วงเกษตรกรที่จะถูกบังคับคดีนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดจึงอนุมัติดำเนินการช่วยเหลือ ซึ่งนายจุรินทร์ มีนโยบายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยเฉพาะหนี้ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีและบังคับคดีอันจะนำไปสู่การขายทอดตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยต่อไป ทางคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรจึงได้ออกประกาศคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดการหนี้และการจำแนกแยกประเภทหนี้ของเกษตรกร พ.ศ. 2563 ฉบับลงวันที่ 1 พ.ค. 2563 ซึ่งกำหนดว่ากรณีสถาบันเจ้าหนี้ไม่ยินยอมให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชำระหนี้แทนสามารถทำการวางเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรได้นั้น ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรห้วยแถลง จำกัด จ.นครราชสีมาไม่ยินยอมให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรชำระหนี้แทนเกษตรกร รายนางขำ สดรัมย์ และจะดำเนินการขายทอดตลาดในวันที่ 6 มิ.ย.2563 สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจึงต้องเร่งดำเนินการวางเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรจำนวนเงิน 477,044 บาท โดยผ่านสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา สาขาพิมาย เนื่องจากเป็นกรณีการแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรรายแรกตามนโยบายของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นับจากวันที่ประกาศคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรฯ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายไชยยศ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ตนพร้อมเลขาธิการ กฟก.กับคณะได้ดำเนินการตามการมอบหมายเรียบร้อยแล้วอย่างทันเวลา ทั้งนี้ได้พบปะพูดคุยให้กำลังใจ ตัวแทนเกษตรกร จาก 35 จังหวัด กว่า 200 คน ซึ่งมาร่วมเป็นสักขีพยาน และยังได้เล่าความคืบหน้าถึงการเสนอแก้ไขกฎหมายกองทุน ซึ่งคาดว่าจะได้รับการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนนี้ ซึ่งการแก้กฎหมายในครั้งนี้จะทำให้กองทุนฟื้นฟูสามารถเข้าไปช่วยเหลือ เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้บุคคลค้ำประกัน ได้กว่า 477,000 ราย และแจ้งความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สินระหว่าง 4 ธนาคารของรัฐ และ ธนาคารเอกชน ซึ่งยืดเยื้อมากว่า 20 ปี ว่าคาดว่าจะแล้วเสร็จในไม่นานนี้ โดยจะมีการประชุมกันครั้งต่อไปในวันที่ 4 มิ.ย. นี้