ครบสัปดาห์โควิดไทยเป็น 0 สธ.วอนทุกหน่วยงานอย่าทิ้ง WFH

2020-06-01 22:10:55

ครบสัปดาห์โควิดไทยเป็น 0   สธ.วอนทุกหน่วยงานอย่าทิ้ง WFH

Advertisement



รายงานการติดเชื้อโควิด-19 ในวันเริ่มต้นผ่อนคลายระยะสาม 1 มิ.ย.63เพิ่มขึ้น 1 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 3,082 ราย หายป่วยเพิ่มอีก 2 รวมที่หายแล้ว 2,965 ราย ยังอยู่โรงพยาบาล 60 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ตัวเลขคงเดิม 57 ราย


ผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นหญิงวัย 43 ปี เดินทางกลับจากประเทศรัสเซีย เข้าอยู่ในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ซึ่งมีเกณฑ์ที่ต้องตรวจหาเชื้อ ครั้งแรกไม่พบ แต่ครั้งที่สองเจอจึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (ศบค.) กล่าวว่า เป็นเวลา 7 วันแล้ว ที่ไม่พบการติดเชื้อจากคนในประเทศ มีแต่ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในสถานที่เฝ้าระวัง แต่ต้องรอดูอีก 2-3 สัปดาห์ จึงจะวางใจได้ เวลานี้ เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 เป็นช่วงเริ่มผ่อนคลายให้กิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูงดำเนินการได้




“แต่ก็จำเป็นต้องผ่อนคลาย เพราะการดำเนินชีวิตต้องกลับมา จึงขอให้เคร่งครัดกับ 5 มาตรการ คือการล้างมือ การสวมใส่หน้ากาก การเว้นระยะทางสังคม การทำความสะอาดพื้นผิว และหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่แออัด”


แม้สถานการณ์โดยรวมจะผ่อนคลาย เบาใจได้ แต่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องก็มีความรู้สึกกังวลเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่สงสัยว่า ในช่วงต่อจากนี้หากมีความย่อหย่อนจนการแพร่ระบาดกลับมาอีกจะทำอย่างไร กรณีนี้ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กลาวถึงการระบาดไว้เป็น 3 ระยะ ที่ผ่านมายังอยู่แค่ระดับ 1-2 หาก ส่วนระยะที่ 3 เป็นขั้นการเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหม่ที่อาจจะตามมา ทุกจังหวัดในประเทศไทยการแพร่ระบาดของโรคขณะนี้ทุกจังหวัด ยังอยู่ระดับที่ 1 คือไม่มีผู้ป่วย หรือมีผู้ป่วยในวงจำกัด





แต่ในขณะนี้ทางกระทรวงไม่ได้ตั้งรับอย่างเดียว ยังคงมาตรการการตรวจเชิงรุกค้นหาเชื้อ ซึ่งตรวจไปแล้ว 420,529 ตัวอย่าง และจะยังดำเนินต่อไปเน้นที่กลุ่มเสี่ยง พร้อมกับการเตรียมสถานพยาบาลรองรับอย่างเต็มที่หากพบผู้ป่วยรายใหม่ ในขณะเดียวกันก็คอยติดตามสอบสวนโรค การเฝ้าระวัง


ทุกอย่างต้องพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น


ในระดับบุคคล คุณหมอ แนะนำให้กลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ คนมีโรคประจำตัว รวมถึงคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 35 พยายามพักอยู่ในบ้าน รวมถึงคนในครอบครัว ก็ต้องระวังจะนำเชื้อกลับไปติดคนที่บ้าน และถึงจะมีการผ่อนปรนที่ให้เดินทางได้ ก็ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยง ถ้าต้องออกนอกบ้านก็ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น การพบปะผู้คนเป็นกลุ่มก้อน และสวมใส่หน้ากากก่อนออกจากบ้าน


คุณหมอย้ำว่าต้องเป็นหน้ากาก ไม่ใช่เฟซชีลเพียงอย่างเดียว เพราะไม่สามารถป้องกันเชื้อได้


อีกส่วนหนึ่งที่จะมีบทบาทต่อการป้องกันเชื้อ คือระดับองค์กรต่าง ๆ คุณหมอ มีข้อเสนอว่า องค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home =WFH)ต่อไป เพราะจะช่วยแก้ปัญหาได้หลายเรื่อง ในสำนักงานก็ต้องหาทางลดความแออัด ต้องมีการจัดการทางวิศวกรรมเพื่อการระบายอากาศที่ดี การมีแผงกั้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ เนื่องจากมีงานวิจัยจากประเทศจีนที่ระบุว่า ในสถานที่ปิด และใช้เครื่องปรับอากาศ จะทำให้เชื้อกระจายไปได้ไกลกว่า 1-2เมตร


ข้อเรียกร้องข้อนี้ คุณหมออาจทราบว่า สำนักงานของหลายองค์กรเริ่มกลับมาคึกคัก บางหน่วยราชการมีหนังสือยกเลิกการทำงานที่บ้าน ภาคเอกชนให้พนักงานสลับเข้าออฟฟิศกันแล้ว เพราะช่วงเปลี่ยนผ่าน สำนักงานยังจำเป็นอยู่




คุณหมอบอกว่า บรรดาสถานประกอบการที่เปิดแล้ว หากเผลอไผลจนเสี่ยงต่อการระบาด ประชาชนที่พบเห็น ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดรับทราบ โดยเจ้าหน้าที่จะไปให้คำแนะนำการปรับปรุง แต่ถ้าถึงขั้นพบผู้ป่วย และสอบสวนโรคพบว่าติดจากที่ใด ที่มีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม จนเป็นแหล่งแพร่โรค ทางจังหวัดก็มีอำนาจสั่งปิด ให้ปรับปรุงจนกว่าจะดีขึ้น การจะปิดจะเริ่มจากสถานที่ที่เป็นแหล่งแพร่โรคก่อน แต่หากระบาดเป็นวงกว้างก็จะปิดจากแหล่งแพร่โรค รวมถึงกิจการที่มีความเสี่ยงสูงหรืออาจจำกัดการเดินทางออกจากพื้นที่การระบาด



เท่ากับว่า แม้สถานการณ์ในประเทศจะคลี่คลาย แต่ในมุมมองของคุณหมอ ทุกลมหายใจ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด เพื่อจัดการอย่างเด็ดขาดกับ เชื้อโรคและตัวการเผยแพร่ ด้วยแผนเตรียมการรับมือที่เฉียบขาด ฉับไว ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่คุ้นหรือนึกไม่ถึงว่าต้องจำเป็นขนาดนั้น


เสียงสงสัยว่า คุณหมอทั้งหลายประเมินสถานการณ์สูงเกินไปหรือเปล่าเริ่มมีขึ้นประปราย ทั้งเริ่มข้องใจว่ารัฐบาลฟังคุณหมอมากไปรึป่าว