"อนุทิน" สั่งจ่ายค่าตอบแทน อสม. 500 บาท ตั้งแต่เดือน มี.ค.63-ก.ย.64 ส่วน รพ.สต.ได้แห่งละ 2 แสนบาท
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารงบประมาณ 45,000 ล้านบาท ในส่วนที่จะต้องนำไปสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุขไทย ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมประชุมหารือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรที่ทำงานด้านสาธารณสุข และการแพทย์ เพื่อให้การใช้งบประมาณจำนวนนี้ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด และจะมีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณทุกรายการที่มีการใช้จ่าย ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ทุกคนตระหนักดีว่าเงินที่จะนำไปใช้นี้ เป็นเงินกู้ที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ดังนั้นการจะใช้เงินทุกบาท ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมนำเสนอมากที่สุด เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปตามความต้องการของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
“2 โครงการแรก ที่ผมได้ให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คือ 1. เพิ่มค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ อสม. ท่านละ 500 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 จนถึง ก.ย. 2564 เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยเหลือค่าเดินทาง ค่าปฏิบัติงาน ให้อสม.ทุกคน ซึ่งเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว สามารถทำงานป้องกันและควบคุมโรค ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. เพิ่มศักยภาพ ขีดความสามารถของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ด้วยการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์ สำหรับให้บริการประชาชน เพื่อที่ประชาชนจะใช้บริการรพ.สต. ได้มากขึ้น และลดความแออัดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ลดความเสี่ยงทั้งการแพร่เชื้อ และการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ เพราะโรงพยาบาล เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งจะให้ รพ.สต. ทุกแห่ง โดย สสจ. หมออนามัย และ อสม. ร่วมกันพิจารณาว่า รพ.สต.แต่ละแห่ง มีความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์อะไรบ้าง ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เป็นการกำหนดความต้องการของพื้นที่เอง ซึ่งจะให้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200,000 บาท ต่อ 1 รพ.สต.ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้บริการของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของรพ.สต.แต่ละแห่ง” นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทย สามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าที่มีการประเมินสถานการณ์กันไว้ นอกเหนือจากความร่วมมือของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นเพราะการทำงานแบบเอาใจใส่และติดตามผู้มีความเสี่ยง ให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค และกักตัวอย่างเข้มแข็งของ อสม. และ หมออนามัย ที่ประจำอยู่ที่รพ.สต. ซึ่งการควบคุมได้ดีในระดับหมู่บ้าน ตำบล ส่งผลให้ลดภาระของโรงพยาบาล และลดจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยหนักได้มาก ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในชุมชน จึงเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้งบประมาณเพื่อการพัฒนาศักยภาพทางด้านการแพทย์ ยา และวัคซีน เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยนั้น ระบบการแพทย์ของประเทศไทย ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราทำได้ดีมาก จากผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนลดลงเหลือไม่เกิน 100 คนภายในเวลา 2 เดือน และยังตรึงสถานการณ์ไว้ได้ แต่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ ในจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของแพทย์ เป็นเรื่องที่จำเป็น การสร้างความมั่นคงทางเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย และ ยา เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาวัคซีน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองของกระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการกันอยู่ การใช้งบประมาณจำนวนนี้ จะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมใหม่ หรือ New Normal ของการใช้บริการของสถานพยาบาล ของประชาชนด้วย จะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา และสร้างบริการใหม่ๆ ให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์ และเข้าถึงยาได้ โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือ เพียงแค่ติดตามอาการ ซึ่งจะมีการประสานงานกับกระทรวงดีอี ร่วมกันพัฒนางานบริการประชาชน มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ การติดเชื้อที่โรงพยาบาลให้ได้มากที่สุด
“กระทรวงสาธารณสุข จะรายงานการพิจารณางบประมาณ และ การใช้เงินจำนวนนี้ ให้ประชาชนทราบ พร้อมใทั้งรายงานความคืบหน้าการทำงาน และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ ให้ได้ทราบ เป็นระยะๆ โดยจะให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ร่วมตรวจสอบ และร่วมประเมินผลการทำงาน อีกทางหนึ่งด้วย ขอให้มั่นใจว่า เงินกู้ 45,000 ล้านบาท จะถูกใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการแพทย์ และระบบสาธารณสุขประเทศไทย ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน” นายอนุทิน กล่าว